เลือกตั้งและการเมือง

ร้องแล้วร้องอีก! ‘เรืองไกร’ ยื่น กกต. สอบ MOU เข้าข่ายถูกครอบงำโดย ‘ก้าวไกล’ ผิดจริงถึงขั้นยุบพรรค

โดย chutikan_o

24 พ.ค. 2566

145 views

‘เรืองไกร’ นักร้องเบอร์ 3 บุกร้อง กกต.อีกแล้ว ขอให้ตรวจสอบเรื่องการเซ็น MOU ของทั้ง 8 พรรค ผิด รธน.หรือไม่ เพราะเข้าข่ายถูกครอบงำโดยพรรคก้าวไกล หากผิดจริงถึงขั้นยุบพรรค

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ที่ลงนามโดยพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จนถึงขั้นถูกยุบพรรคหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า มีข้อความหนึ่งของการทำ MOU ทั้ง 8 พรรคนั้น ระบุว่าทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ผลักดันนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติม โดยไม่ขัดไปจากนโยบายที่อยู่ใน MOU ไม่ว่าจะเสนอผ่านอำนาจฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติก็ตาม ส่วนตัวมองว่า นี่เป็นการผูกมัดบีบให้พรรคการเมือง ทั้ง 7 พรรคอยู่ภายใต้การครอบงำชี้นำของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดหรือครอบงำใดๆ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการอันใด อันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

และการทำ MOU ดังกล่าวนั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับและหัวหน้าพรรคก้าวไกลคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีอำนาจในการทำ MOU

นอกจากนี้ นายเรืองไกรยังยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ กกต. กรณีนายพิธาถือครองหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน โดยนำตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2549 - 2566 และตารางรายได้รวมของไอทีวี ตั้งแต่ปี 2549 - 2565 (ยกเว้นปี 2555) เพื่อแสดงให้เห็นว่า นายพิธาถือครองหุ้นตั้งแต่ปี 2551 และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้จัดการมรดก และบริษัทไอทีวียังยังมีผลประกอบการของบริษัทอยู่ แม้จะอ้างว่าไม่ได้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2561 แล้วก็ตาม  หาก กกต.พิจารณาเรื่องนี้ไม่ทันการรับรอง สส. และเปิดสมัยประชุมรัฐสภา จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่ออย่างน้อย 50 คน ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นถือหุ้นสื่อของนายพิธา และจะไปเสนอแนะกับวุฒิสมาชิก ให้เข้าชื่อ 1 ใน 4 ของวุฒิสมาชิกทั้งหมด ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเจตนารมณ์ของนายเรืองไกรที่มายื่นให้ กกต.ตรวจสอบ MOU ของ 8 พรรคการเมือง รวมไปถึงกรณีการตรวจสอบหุ้นสื่อของนายพิธา ว่าเป็นเพียงแค่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายหรือจงใจที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกรได้ยกธรรมะมากล่าวอ้างว่า หากเกิดแผลก็ต้องย่อมรักษา หากเกิดแผลก็ต้องดูแลเช่นนั้น

และระหว่างที่นายเรืองไกร มาร้องนายวรัญชัย โชคชนะ นัดเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เดินทางเข้ามาในวงแถลงข่าว พร้อมกับชูป้ายข้อความระบุว่า “ขอให้กำลังใจและสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าให้เหมือนสมัครทำกับข้าว” เพื่อเป็นการคัดค้านนายเรืองไกร ช่วงที่นายเรืองไกรไปยื่นเอกสารร้องเรียนที่ กกต. นาย วรัญชัย ตะโกนว่า ไม่อยากให้เหมือนกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นจากตำแหน่งจากกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไปเมื่อปี 2551


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/BVb5zv07LnU

คุณอาจสนใจ

Related News