เลือกตั้งและการเมือง

สรุป 6 ประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "บิ๊กตู่" อยู่ต่อ ชี้วาระ 8ปี นับเฉพาะรธน.60 ไม่มีผลย้อนหลัง

โดย parichat_p

1 ต.ค. 2565

82 views

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัย ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดจาก คดีวาระ8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ทีมข่าวการเมืองได้สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแบ่ง ออกเป็น 6 ประเด็น ดังนี้


- ประเด็นที่ 1. การเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ศาลชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มีเงื่อนไขต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร  และมีเงื่อนไขการเสนอชื่อ ตามบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเสนอชื่อ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562   ถือว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยบริบูรณ์



- ประเด็นที่ 2. การเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557

ศาลชี้ว่าการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557  เป็นการแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.  ซึ่ง สนช. ก็มาจากการเสนอชื่อโดย คสช.  จึงเห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่ นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560  ที่จะต้องมาจากการให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร  

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560  มีบทเฉพาะกาล ตามมาตรา  264 ยกเว้นให้ คณะรัฐมนตรี ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย


- ประเด็นที่ 3.  ครม. ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทเฉพาะกาล ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา  264 ที่กำหนดให้ คณะรัฐมนตรี ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น    มีความมุ่งหมายเพื่อความต่อเนื่องของ ครม.  แม้  ครม. ของพลเอกประยุทธ์  จะเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น  ที่อยู่ก่อน รัฐธรรมนูญ  2560   แต่เมื่อ รัฐธรรมนูญ2560 ประกาศใช้  ในวันที่ 6 เม.ย. 2560  ครม.ดังกล่าว ย่อมเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560  นับตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย. 2560  เป็นต้นไป

- ประเด็นที่ 4. วาระ 8ปี เริ่มนับเมื่อใด ?

ศาลชี้ว่า  ความมุ่งหมายของ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 มีจุดประสงค์นำกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาบังคับใช้กับ ครม. ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ ครม. ก่อนดังกล่าว อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ2560 ทันทีที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้

ความมุ่งหมายของ มาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้กฎหมาย คือ กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับ นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ  เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะยกเว้นไว้  ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดเมื่อ รัฐธรรมนูญ2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที เช่นเดียวกับ กรณีวาระ 8ปี ที่จะต้องเริ่มนับทันที ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ  จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560  เป็นนายกรัฐมนตรี  ที่เริ่มนับวาระ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

- ประเด็นที่ 5 . วาระ8 ปีไม่มี ผลย้อนหลัง

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติ ให้วาระดำรงตำแหน่ง 8ปี ของนายกฯ มีผลย้อนหลังได้  จึงเป็นคนละกรณีกับ คำวินิจฉัยที่ศาล เคยวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกรณีดังกล่าวมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้  เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก

- ประเด็นที่ 6. บันทึกการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ไม่มีผล

ศาลชี้ว่า ข้ออ้างของผู้ร้องเกี่ยวกับบันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ซึ่งระบุ ความเห็นของ อ. มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์  รองประธาน กรธ. ว่าให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น

ข้อเท็จจริงศาลพบว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการพิจารณาความมุ่งหมายคำอธิบายรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตราต่างๆ  และเป็นการพิจารณาหลังรัฐธรรมนูญใช้บังคับมาแล้ว 1ปี 5เดือน  อีกทั้งความเห็น ดังกล่าวก็ไม่ได้นำไประบุไว้ใจความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญจริง และในขั้นการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่พบว่ามีการหารือในประเด็นดังกล่าวด้วย


“ดังนั้น การกำหนดเวลา 8 ปี จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560  เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ในวันที่ 6 เม.ย.2560  นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน จึงเป็นการดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยถือวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นตำแหน่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560”  


ศาลจึงวินิจฉัยว่า  พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบ 8ปี  ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด ความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  จึงไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ  2560



ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น
คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง 3PlusNews

คุณอาจสนใจ

Related News