เลือกตั้งและการเมือง

"ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน" จับตาศึกซักฟอก 11 รมต.

โดย panisa_p

16 ก.ค. 2565

112 views

ในวันที่ 19 - 22 ก.ค. นี้ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน ซึ่งฝ่ายค้านตั้งเป้าจะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงกลายเป็นที่น่าจับตาว่าศึกซักฟอกครั้งนี้จะสามารถทำให้ 11รัฐมนตรี ซึ่งรวมถึง กลุ่ม 3ป. ด้วยนั้น สามารถพ้นจากตำแหน่งได้หรือไม่




ความเข้มข้นในการอภิปรายครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นที่คาดหวังว่าจะดูเดือดกว่าครั้งก่อนๆหรือไม่ ซึ่งเริ่มต้นประเดิมโหมโรงของพรรคเพื่อไทย ด้วยโปสเตอร์เชิญชวนให้คนจับตาการอภิปราย ในสไตล์ซีรีส์เกาหลี แนวสืบสวนสอบสวน แล้ว ยิ่งชวนให้น่าลุ้น โดยเฉพาะที่ พรรคเพื่อไทย บอกว่า  รัฐมนตรีทั้งหมด 11 คน ถึงกับขนหัวลุกอย่างแน่นอน กับการอภิปรายภายใต้แคมเปญ “ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน”  


ทว่าย้อนไปดูสถิติการลงมติในศึกซักฟอก 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ไม่เคยมีการอภิปรายครั้งไหน ทำให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีหลุดจากเก้าอี้ได้ แต่ที่น่าจับตา คือการอภิปรายครั้งนี้ มีพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา


โดยเฉพาะการประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้การเมืองในรัฐสภาระอุมากขึ้นมาอีกครั้ง จากการ ที่ ร.อ.ธรรมนัส  อ้างว่า มีส.ส. อยู่ในมือ ไม่ต่ำว่า 20 เสียง อย่างพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ซี้ปึกกับ ร.อ.ธรรมนัส และ อาจทำให้ขาเก้าอี้ของรัฐมนตรีบางคนสั่นจนหลุดจากตำแหน่งก็เป็นได้จากปรากฎการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ


ทำไมการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลของร.อ. ธรรมนัส ถึงเป็นที่น่าจับตา?



หากดูที่ตัวเลข ส.ส. ในสภา ทั้ง 477 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้  เดิมพรรคฝ่ายค้านมีเสียงในสภาอยู่ 208 เสียง (ยังไม่ลบ ‘งูเห่า’ อีกหลายเสียง) และฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาอยู่ 269 เสียง แต่เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ได้ประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลจากเหตุแพ้การเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จ.ลำปาง ที่ทำให้ทางพรรคเศรษฐกิจไทยทบทวนบทบาทแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน  มาอยู่ร่วมกับฝ่ายค้าน  ทำให้ฝ่ายค้าน มี เสียง เพิ่ม เป็น 224 เสียง  ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเหลือเสียงในสภา 253 เสียง




แม้ตัวเลขของฝ่ายค้านจะยังคงน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่ 29 เสียง แต่ก็ยังมี ส.ส. พรรคเล็กอีกเกือบ 20 เสียง ที่เป็นตัวแปรสำคัญของการลงมติไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ อย่างกลุ่ม 16 ส.ส. ที่ประกาศตัวว่ามี ส.ส. 16 คน และมีการนัดทานข้าว กับ ร.อ.ธรรมนัส อยู่บ่อยครั้ง  หากพลิกขั้วย้ายตาม ไปอยู่ฝ่ายค้านด้วย  จะเกิดปปรากฎการณ์รัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที  และแน่นอนว่า งานนี้ จะมี รัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งแน่นอน จนรัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ หาก กลุ่ม 16 ที่ว่านี้มีเสียง ถึง 16 คน และมีความเป็นเอกภาพอยู่จริง




นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยอมรับว่าโอกาส ที่ฝ่ายค้านจะชนะอาจไม่ง่าย อย่างที่คิด เพราะการจะล้มรัฐบาลได้ ต้องมีเสียงของร้อยเอกธรรมนัส และพรรคพรรคเล็ก มารวมกับฝ่ายค้าน ถึง 36-37 คน  เพื่อให้ฝ่ายค้านมีเสียงข้างมากถึง 245 เสียง แต่ปัญหาคือในพรรคร่วมฝ่ายค้านเองยังมี ส.ส.งูเห่า อยู่ไม่น้อย และที่เห็นอยู่เป็นประจำ เช่น พรรคก้าวไกลประมาณ 5 เสียง / พรรคเพื่อไทย 7 เสียง


โอกาส ล้มรัฐบาล ยังเกิดขึ้นได้อยู่หรือไม่?



นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ ส.ส. เท้ง อีกหนึ่งขุนพลการอภิปรายของพรรคก้าวไกลชี้ว่า การอภิปรายครั้งนี้ เป็นที่น่าจับตา เพราะแม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อาจได้เห็นรัฐมนตรีบางคนหลุดจากเก้าอี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ส่งผลสะเทือนถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้แน่นอน  เพราะหากดูจากกระแสการผ่านร่างกฎหมายในรัฐสภาที่ผ่านมา ทั้ง ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ต่างเกิดขึ้นได้เพราะ ส.ส. ที่เป็นนักการเมืองจากแต่ละพรรคเห็นด้วยกับประชาชน


“มันน่าสนใจว่าทำไมเขาถึงเริ่มสวนมติวิปรัฐบาลได้ ก็เพราะบริบททางการเมืองที่ปีนี้เป็นปีสุดท้าย ว่ากันแบบตรงไปตรงมา ถ้าเป็นปีแรกๆนายกฯ กดปุ่มสั่งส.ว. ได้ ไม่ว่าจะมีการอภิปรายหรืออะไรก็ตามแต่ แม้จะทำให้นายกฯ หลุดจากเก้าอี้ไปได้ แต่หากเขายังคุมเสียงข้างมากในสภา หรือคุมเสียง ส.ว. ได้ อำนาจทางการเมืองยังอยู่ในมือของเขา และพวกเขาก็คงหาทางกลับมามีอำนาจได้อยู่ดี แต่ปีนี้เป็นปีสุดท้ายแล้ว มันเลยน่าจับตามองและน่าลุ้นเป็นอย่างยิ่ง”... ส.ส.ณัฐพงษ์


ส.ส.ณัฐพงษ์ ชี้ว่า ปัญหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯที่ผ่านมา เป็นเพราะรัฐบาล คือ ผู้ที่คุมเสียงข้างมากในสภา ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถเอานายกฯ หรือรัฐมนตรีหลุดจากเก้าอี้ได้กลายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าเคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ทำให้รัฐมนตรีหลุดจากเก้าอี้ได้ แต่ในปัจจุบัน ด้วยกติกาของรัฐธรรมนูญ’60 ทำให้ไม่ว่าฝ่ายค้านจะหาหลักฐานหรือเลือกประเด็นมาใช้ในการอภิปรายดีแค่ไหน การอภิปรายตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถทำให้รัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งเลย


ยังต้องจับตา 19 - 22 ก.ค. นี้  ว่า ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ของฝ่ายค้าน จะมีพลังเพียงพอที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอนหรือไม่  ซึ่งนอกจากฝ่ายค้านจะใช้เวทีนี้วิจารณ์ปัญหาของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้แล้ว ยังมีฝ่ายที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากหมากเกมนี้ไม่น้อยไปกว่ากันนั่น คือบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย ที่กำลังเนื้อหอมและมีโอกาสสร้างมูลค่าต่อรองแลกผลโหวตได้อย่างสะพัดเหมือนกัน


คอลัมน์ใต้เตียงการเมือง

โยษิตา สินบัว รายงาน

คุณอาจสนใจ

Related News