เลือกตั้งและการเมือง

เลือก(สัก)ตั้ง Ep 33 : ป้ายหาเสียงที่เปลี่ยนไป

โดย paweena_c

3 พ.ค. 2566

9 views

การเลือกตั้งครั้งนี้คน กทม. จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของป้ายหาเสียง ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.​แต่ขณะที่ต่างจังหวัดยังเป็นป้ายขนาดเดิม บริบทอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น

วันนี้เรามาพูดกันเรื่องป้ายหาเสียง ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เห็นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 66 กันเต็มไปหมด ติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้างทาง ตามเสาไฟฟ้า หรือหน้าปากซอย แต่รู้หรือไม่ ถ้าสังเกตกันดี ๆ ป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ กับ ต่างจังหวัด มีขนาดต่างกัน


แน่นอนว่า กกต. มีประกาศชัดเจนเรื่อง ‘การปิดประกาศและป้ายหาเสียงเลือกตั้ง’ ซึ่งเราเคยได้คุยไปก่อนหน้านี้แล้วถึงข้อกำหนดต่าง ๆ

ซึ่งเรื่องขนาดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง มีกำหนดไว้ว่า ให้กว้างไม่เกิน 130 ซม. ยาวไม่เกิน 245 ซม. ตรงนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ถ้าเราดูกันดี ๆ ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 66 ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานที่กกต. กำหนด เรื่องนี้มีที่มา

ตั้งแต่การเลือกตั้ง ผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด ที่ผู้ว่าชัชชาติ มีการปรับขนาดป้ายหาเสียงให้เล็กลง ขนาดเท่าติดตามเสาไฟฟ้า คือมีขนาด 0.6 x 2.4 เมตร กว้างน้อยกว่าป้ายหาเสียงทั่วไปครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเท้า และขนาดเล็ก 0.6 x 0.8 เมตร สำหรับพื้นที่ชุมชน ซอยแคบ เพื่อไม่ให้กระทบการสัญจรของคนในพื้นที่

เรื่องนี้ก็ได้ใจคนกรุงเทพฯ และได้รับคำชมไปไม่น้อย เพราะตอบโจทย์คนเมืองในเรื่องขนาดที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่กีดขวางทางเดิน ไม่บดบังทัศนียภาพ จนบางคนก็เรียกป้ายหาเสียงขนาดเล็กนี้ว่า “ป้ายขนาดชัชชาติ”

ซึ่งหลังจากนั้น รวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 66 ครั้งนี้ เราก็ได้เห็นป้ายหาเสียงของผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมืองต่าง ๆ ในขนาดเสาไฟฟ้ามากขึ้น

แต่ในส่วนของต่างจังหวัด กลับแต่ต่างกันออกไป ด้วยความกว้างใหญ่และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เมื่อโจทย์คือการต้องหาเสียงประชาสัมพันธ์นโยบาย หมายเลข ส.ส. หรือพรรคการเมือง ในพื้นที่ที่ใหญ่ จึงจำเป็นต้องทำป้ายที่ขนาดใหญ่ไปด้วย เพื่อให้กระจายได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

เพราะคนต่างจังหวัด เวลาเดินทางไปที่ต่าง ๆ ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ด้วยสถานที่ที่ตั้งอยู่ห่างกัน จึงไม่มีเวลาหยุดดู ไม่มีเวลามาเพ่งพินิจพิเคราะห์อ่านป้ายต่าง ๆ  มากนัก การใส่ข้อมูลหาเสียงลงในป้ายขนาดใหญ่จึงตอบโจทย์มากกว่า เพราะบางทีการที่ป้ายหาเสียงกระจายไม่ทั่วทุกพื้นที่ ก็อาจทำให้บางคนคิดว่า ส.ส. คนนั้น หรือพรรคการเมืองนั้น ไม่ลงสมัครหรือป่าว แบบนี้ ก็อาจทำให้เสียคะแนนของตัวเองไปได้

เพราะอีกนัยหนึ่ง ในการเลือกตั้งของคนต่างจังหวัด บางส่วนก็ติดภาพกับส.ส.บ้านใหญ่ หรือผู้ครองฐานเสียงเดิมในพื้นที่ ด้านประชาชนในเขตต่าง ๆ เองก็จะมองว่า ส.ส.คนนี้ จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่จริงไหม เอาป้ายเข้ามาติดหาเสียงในพื้นที่แล้วหรือยัง ป้ายใหญ่ไหม ถ้าไม่มีป้าย หรือป้ายไม่ใหญ่ ก็อาจคิดได้ว่า ส.ส.คนนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ตน ไม่ลงทุน เลือกมาแล้วอาจไม่เข้ามาทำงานพัฒนาพื้นที่จริง และไม่ลงคะแนนเสียงให้

แม้ว่า ส.ส.บางคน หรือบางพรรคการเมือง อยากทำป้ายขนาดเท่าเสาไฟฟ้าบ้าง ก็อาจทำได้แค่พื้นที่ตัวเมืองของจังหวัด แต่โดยภาพรวม พื้นที่ต่างจังหวัดโดยทั่วไปที่มีขนาดกว่างใหญ่ การทำป้ายเล็กก็ยังคงไม่ตอบโจทย์ เพราะอาจเสี่ยงเกินไปกับคะแนนเสียงที่หายไป เราจึงมักจะเห็นป้ายที่มีขนาดใหญ่เท่ามาตรฐานกกต.กำหนด กระจายตัวอยู่มากกว่า

จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันของขนาดป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องของพื้นที่ รวมถึงบริบททางการเมือง เหล่านี้ส่งผลต่อขนาดป้ายเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย


คุณอาจสนใจ

Related News