เลือกตั้งและการเมือง

เลือก(สัก)ตั้ง Ep 25 : ส่องประวัติ ว่าที่ นายกฯ คนที่ 30

โดย paweena_c

1 พ.ค. 2566

14 views

เช็กลิสต์ตัวเต็งนายกฯ ดูกันว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะมีใครบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีประวัติคร่าวๆ เป็นใครมาจากไหน ทำอะไรกันมาบ้าง

หลังจากได้ปิดรับสมัครแบบบัญชีรายการ และเป็นการยื่นเสนอแคนดิเดตนายกฯ ไปพร้อมๆกัน โดยมีข้อกำหนดว่าแต่ละพรรคสามารถยื่นได้ไม่เกิน 3 คน  และทุกคนต้องให้ความยินยอม โดยครั้งนี้มีพรรคการเมืองยื่นแคนดิเดตนายกฯ 43 พรรค รวม 63 คน แต่พรรคที่จะมีสิทธิเสนอชื่อในสภา ก็จะเป็นพรรคที่มีเสียงมากกว่า 25 เสียง

เราเลยลองมาสแกนดูว่าว่าที่นายกแต่ละคน เป็นใคร และมีประวัติน่าสนใจยังไงบ้าง โดยเราเลือกคนที่เด่นๆ และมีความเป็นไปได้ว่าพรรคจะได้มากกว่า 25 เสียง

เริ่มที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 เข้าชิงตำแหน่งอีกสมัย

ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จากอดีตนายทหาร ที่เข้าสู่การเมืองโดยการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2557 หลังจากนั้นได้รับตำแหน่งนายกฯ จากการเลือกตั้งปี 2562 โดยการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ย้ายไปร่วมกับ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ พรรคจัดตั้งใหม่ การเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ ชูสโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

ด้าน พรรคพลังประชารัฐ ก็เสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบิ๊กป้อม หัวหน้าพรรค ขึ้นบัญชีว่าที่นายก

พลเอกประวิตร อดีตนายทหาร พี่ใหญ่แห่ง 3ป. รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ปมวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี

พรรคพลังประชารัฐ มาพร้อมสโลแกน "ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่" และนโยบาย เพิ่มเงินสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน จนเป็นที่มาของคำที่ว่า "ลุงป้อม 700"

พรรคเสรีรวมไทย ก็ส่ง พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเข้าชิงตำแหน่งอีกคน อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าของฉายา ‘วีรบุรุษนาแก’ ผู้บุกเดี่ยวเข้าล็อกคอโจรปล้นธนาคารช่วยตัวประกัน และ ‘มือปราบตงฉิน’ ผู้ที่รัฐบาลยุคต่าง ๆ มักมอบหมายให้ทำคดีสำคัญ จัดการกับผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่รู้จักในการ ปฏิรูปกองทัพ และ เรื่องการเรียกร้องให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารในประเทศไทย

ครั้งนี้ เมื่อก้าวสู่การเป็นนักการเมือง พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยืนยันจุดยืนว่า จะไม่ร่วมกับเผด็จการ โดยชี้ว่าที่ผ่านมา เผด็จการที่มาลงเลือกตั้ง ต่างก็บริหารประเทศไม่ได้ จนทำให้ประชาชนยากจน ต้องหาทางเลือกใหม่ และฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองได้

พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เก่าแก่ ที่ต้องกอบกู้พรรคจากประเด็นข่าวต่าง ๆ ให้พรรคกลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

ในช่วงที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหม่ ๆ เคยประกาศว่า “จะเป็นผู้นำอเวนเจอร์” ของพรรค แต่ท้ายที่สุด ทีม ‘อเวนเจอร์’ ที่ว่าก็แยกย้าย ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ก็ออกไปตั้งพรรคใหม่อย่างชาติพัฒนากล้า ส่วน ‘พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค’ ก็ไปสร้างพรรคใหม่คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ

อีกมุมที่น่าสนใจคือ คุณจุรินทร์ เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา เป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง ใช้นามปากกาว่า "อู๊ดด้า" เรียกได้ว่า จากนักเขียนการ์ตูนสู่ถนนการเมืองเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8

พรรคไทยสร้างไทย เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือคุณหญิงหน่อย เข้าชิง

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นนักการเมืองหญิง เข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการได้รับเลือกเป็น ส.ส. กทม. สังกัดพรรคพลังธรรม ช่วงปี 2535 หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมพรรคไทยรักไทยในปี 2541

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 คุณหญิงสุดารัตน์หวนกลับมารับบทบาทนำในพรรคเพื่อไทย ทั้งในฐานะ "ประธานกรรมการยุทธศาสตร์" และในฐานะ "หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี" แต่ท้ายที่สุด หลังการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคในปี พ.ศ.2563  คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และจัดตั้ง ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ขึ้น

และในสนามครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่า ไม่เอารัฐประหาร เพราะทำประเทศถดถอย และมุ่งมั่นที่ต้องการพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้ง

พรรคเพื่อไทย เป็นอีกพรรคการเมืองที่แจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ครบทั้ง 3 คน แคนดิเดตนายกฯลำดับที่ 1 ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ผู้เข้าสู่เส้นทางการเมือง ด้วยวัย 35 ปี

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการเมือง เพราะเธอเล่าว่า เธอสัมผัสการเมืองตั้งแต่ 8 ขวบ ตอนนั้นคุณพ่อทักษิณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนอายุ 9 ขวบ พ่อเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม จากนั้นอีก 3 ปี พออายุ 12 ปี พ่อก่อตั้งไทยรักไทย

ครั้งหนึ่ง ปี 2551 ขณะศาลอ่านคำพิพากษาคดี การเลี่ยงจ่ายภาษีหุ้นบริษัทตระกูลชินวัตร 'อุ๊งอิ๊ง' ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่แสดงสีหน้าออกชัดเจน จนมีภาพ นั่งเบะปากต่อหน้าบัลลังก์ศาลอาญา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรียกได้ว่า เป็นทายาทชินวัตร ที่มีสายเลือดการเมืองเข้มข้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

คนต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯลำดับที่ 2 นักธุรกิจเจ้าพ่ออสังหาฯ เจ้าของบ.แสนสิริ ครั้งนี้กลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ถูกจับตามองไม่น้อย เนื่องจากเศรษฐาเอง ก็เคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลยิ่งลักษณ์

ซึ่งครั้งนั้นก็ล้มไม่เป็นท่า และยิ่งเป็นนักธุรกิจมาก่อนก็ยิ่งถูกจับตามองว่า จะหวังผลกำไรมากกว่าผลประโยชน์ประชาชนหรือไม่ ซึ่งล่าสุด ‘เศรษฐา’ ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งใน บ.แสนสิริ เพื่อเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในประเด็นดังกล่าว

ส่วนคนสุดท้ายที่เปิดตัวเป็น แคนดิเดทคนที่3 คือ นายชัยเกษม นิติสิริ นักกฎหมายอาวุโส และอดีตอัยการสูงสุด ผู้เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ทุบโต๊ะสู้ ‘ไม่ยอมลาออก’ จากการที่ถูกเสนอให้รักษาการนายกฯขณะนั้นลาออก   ก่อนเกิดการรัฐประหารโดยคสช.

ปิดท้ายที่ พรรคก้าวไกล ส่ง ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ

การศึกษาจบปริญญาโทสองใบ จาก 2 มหาวิทยาลัยระดับโลก ฮาร์วาร์ด และ MIT จากนักธุรกิจ ผู้ต้องรับบทบาทซีอีโอ ในวัยเพียง 25 ปี หลังสูญเสียคุณพ่อไป และต้องบริหารธุรกิจที่บ้านด้วยตัวเอง พลิกจากขาดทุนกว่าร้อยล้านกลับมาเป็นกำไร

เริ่มเข้าสู่การเมืองจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในปี 2562 ผู้ได้รับคำชื่นชมจากการอภิปรายปัญหา กระดุม 5 เม็ด นโยบายการเกษตรของรัฐบาล ต่อมาหลังศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรค พิธาก็ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล และดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรค

จากประวัติแล้ว การเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ ว่าที่นายกฯแต่ละคน จะงัดไม่เด็ดอะไรของตัวเองมาใช้ในการหาเสียงเรียกคะแนน ต้องมาจับตาดูกัน



คุณอาจสนใจ

Related News