เลือกตั้งและการเมือง
เลือก(สัก)ตั้ง Ep 23 : "บ้านใหญ่" ที่มาคืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็วิ่งหา
โดย paweena_c
1 พ.ค. 2566
7 views
"บ้านใหญ่" ศัพท์การเมือง ที่หลายคนคุ้น แต่อีกหลายคนยังไม่รู้จัก ที่มาของบ้านใหญ่คืออะไร และที่สำสัญ ทำไมใครที่อยากเป็นรัฐบาลต้องวิ่งหา
วันนี้เราจะมาอธิบายคำว่า “บ้านใหญ่” ให้ฟังกัน
คนกรุงเทพ หรือ หลายจังหวัดก็อาจจะไม่คุ้นกับ “บ้านใหญ่” เพราะไม่มีนักการเมืองตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่ครองพื้นที่จังหวัดนั้นๆมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน
แต่กับหลายๆจังหวัด มักมี “ตระกูลนักการเมือง” ที่ครองพื้นที่จังหวัดนั้นอย่างเหนียวแน่น และคุมฐานเสียงได้อย่างอยู่หมัด ชนิดที่เรียกกันว่าตัวบุคคลใหญ่กว่าพรรคการเมือง และถ้าพรรคการเมืองอยากมีฐานเสียงในจังหวัดนั้นก็ต้องวิ่งเข้าหา “ตระกูลการเมือง” นี้
ยกตัวอย่างเห็นได้ชัด เช่น “บ้านใหญ่” ของ สุพรรณบุรี ก็คือ ตระกูลศิลปอาชา
บ้านใหญ่ของสมุทรปราการก็คือ “อัศวเหม”
บ้านใหญ่ของ “อุทัยธานี” ก็คือ “ไทยเศรษฐ์”
บ้านใหญ่ของ “นครปฐม” ก็คือ “สะสมทรัพย์”
บ้านใหญ่ของ “อ่างทอง”ก็คือ “ปริศนานันทกุล”
บ้านใหญ่ของ “ชลบุรี” ก็คือ “คุณปลื้ม”
บ้านใหญ่ของ “บุรีรัมย์” ก็คือ “ชิดชอบ”
บ้านใหญ่ ของ "ฉะเชิงเทรา" ก็คือ "ตันเจริญ"
บ้านใหญ่ของ สุโขทัย ก็คือ "เทพสุทิน"
การเกิดขึ้นของบ้านใหญ่นั้น มักจะเป็นตระกูลคหบดีเก่าของจังหวัดนั้นๆ ที่มีความร่ำรวย และมักจะมีคนในตระกูลมาเล่นการเมืองและพัฒนาจังหวัดนั้นๆ จนครองฐานเสียงทั้งคะแนนจากชาวบ้านและหัวคะแนน แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดมาจากการเล่นการเมืองจนผูกขาดความเป็นเจ้าของพื้นที่
บ้านใหญ่จะไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะกับการเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่จะมีอิทธิพลกับการเมืองระดับท้องถิ่น ว่ากันว่าลงไปถึงขนาดระดับการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วยซ้ำ
และนั่นก็จะย้อนกลับมาถึงการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง เพราะนักการเมืองท้องถิ่นก็จะเป็นหัวคะแนนสำคัญในการเลือกตัั้งระดับชาติ
บุคลิกสำคัญที่บ้านใหญ่ต้องมีคือการพัฒนาจังหวัด และความยึดติดกับพื้นที่ โดยฐานคะแนนของ “บ้านใหญ่” จะไม่ยึดโยงกับกระแสพรรคการเมือง ดังนั้นไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งไหน หากอยากเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ก็ต้องวิ่งเข้าหา “บ้านใหญ่” และเราก็มักจะเห็นบ้านใหญ่เป็นพรรครัฐบาล เพราะการเป็นพรรครัฐบาลก็ไม่ยากที่จะดึงงบประมาณมาลงพื้นที่เพื่อพัฒนาจังหวัดของตัวเองนั่นเอง