เลือกตั้งและการเมือง

เลือก(สัก)ตั้ง EP.5 : ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง และใครบ้างที่อดเลือกตั้ง

โดย paweena_c

3 เม.ย. 2566

10 views

เลือก(สัก)ตั้ง EP.5 : ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง และใครบ้างที่อดเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมักมีคำถามว่า ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง  เราจะมาเล่าให้ฟังว่าใครบ้างที่มีสิทธิเลือกตั้งโดย รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ทั้ง  คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ และ ผู้ที่ต้องห้ามใช้สิทธิ์

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 95  ประกอบด้วย
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่สำหรับผู้ที่แปลงสัญชาติ จะต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
- คนที่อยู่นอกทะเบียนบ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ  ก็ยังมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้ง

ส่วนใครที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เรื่องนี้รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้เช่นกัน โดยมีคน 4 ประเภทที่ถูกระบุว่าไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ประกอบด้วย
- ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยด้วยกฎหมาย
- คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ทีนี้ต้องบอกว่า การไปเลือกตั้งนั้น ไม่ได้เป็นเพียงสิทธิ หากแต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นหน้าที่เช่นกัน ดังนั้นคนที่มีสิทธิแต่ไม่ไปใช้สิทธิก็จะเสียสิทธิหลายๆอย่างตามกฎหมาย ประกอบด้วย

สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง,  สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน, นอกจากนี้ยังต้องห้ามเป็นข้าราชการการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยการจำกัดสิทธินี้จะมีเวลาสองปี และจะได้สิทธิคืนเมื่อไปเลือกตั้งใหม่

และที่สำคัญคือสมมติว่ามีผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ไม่ไปใช้สิทธิ ก็จะทำให้หมดสิทธิในการเป็น  ส.ส. เลย แต่หากมีเหตุจำเป็นจริง ก็ต้องแจ้งเหตุอันสมควรต่อ กกต. ก็จะไม่เสียสิทธิ


คุณอาจสนใจ

Related News