เลือกตั้งและการเมือง

‘โสภณ’ ถกเครือข่ายการศึกษา รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม แก้ไขปัญหาคุณภาพศึกษา ปลอดยาเสพติดในพื้นที่บุรีรัมย์

โดย olan_l

13 ธ.ค. 2567

97 views

วันนี้ (13 ธ.ค.)นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  และเครือข่ายทางการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมี ดร.ภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ นายปิยวิทย์  เชิดกลิ่น ผู้อำนวยการ สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ นายประสิทธิ์  พิเศษ ผู้อำนวยการ สพป.บร. 4 นายศุภชัย ภาสกานนท์ รอง ผอ.สพม.บุรีรัมย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ รวมทั้งทางภาคท้องถิ่น ได้แก่ นายชาตรี  ศรีตะวัน นายกองค์การบริหารส่วนตูมใหญ่ นายบุญสังข์  ทินปราณี กำนันตำบลตูมใหญ่ นายบุญมี  ดีรื่นรัมย์ ประธานสภา อบต.ตูมใหญ่ พันจ่าตรีรุ่งนาวี  ภูชุม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ และคณะ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการในการแก้ปัญหาการศึกษาเชิงพื้นที่ เนื่องจากปัญหาคุณภาพการศึกษาลดลง จำนวนนักเรียนลดลง มีสถานศึกษาขนาดเล็กมากขึ้น รวมทั้งปัญหาในมิติของสังคม เช่น การเป็นพลเมืองดี และปลอดยาเสพติด

ทั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยในการระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหา ได้แก่ กลุ่มด้านนโยบาย ระเบียบ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน กลุ่มครูและผู้บริหารในการใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ และกลุ่มเอกชน ท้องถิ่นและชุมชน ในการระดมทรัพยากร จากผลสรุปได้ใช้แนวทางในการแก้ปัญหาคือ จัดตั้ง “ศูนย์รักศรัทธาตูมใหญ่ พัฒนา การศึกษาแบบบูรณาการ” โดยให้มีคณะกรรมการที่มีทุกภาคเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ปัญหา และมีแนวทางการดำเนินงานผ่านกิจกรรมดังนี้ 1) ให้มีครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เดินสอน 2) มีศูนย์ออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ โดยมีการสอนออนไลน์ในเนื้อหาปกติและครูติวเตอร์ออนไลน์ บริหารโดยคณะกรรมการศูนย์ฯ 3) การรับนักเรียนมาเรียนรวม (School Partner) 4) เปลี่ยนบทบาทโรงเรียนเป็น “ศูนย์วิชาการ” ที่เป็นแหล่งเรียนนักเรียนและชุมชน 5) มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งมีรถรับส่ง และ 6) การสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมโดยใช้นวัตกรรมและทรัพยากรร่วมกัน ในเบื้องต้นทางภาคเอกชน โดยมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ได้บริจาคงบประมาณจำนวน 100,000 บาทในการตั้งต้น และท้องถิ่นได้จัดสรรงบสนับสนุน 5,000,000 บาท โดยจะมีคณะกรรมการกองทุนคอยควบคุมดูแล ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงาน

นายโสภณ กล่าวตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาการศึกษาในชนบทเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาสังคมรุมเร้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เด็กไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง ขาดความอบอุ่น เกิดปัญหายาเสพติด และโรงเรียนมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยทำงานกับข้าราชการแบบบูรณาการกันมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้



คุณอาจสนใจ

Related News