เลือกตั้งและการเมือง
'เรืองไกร' ร้องสอบ นายกฯ ตั้ง 'หมอเลี้ยบ-ณัฐวุฒิ' ขาดความซื่อสัตย์หรือไม่ เทียบปม 'เศรษฐา' ตั้ง 'พิชิต'
โดย chawalwit_m
8 ต.ค. 2567
129 views
วันที่ 8 ต.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี ตามหน้าที่และอำนาจว่า การแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2567 และการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ต.ค. 2567 นั้น จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
โดยเทียบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 ส.ค.67 กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160
นายเรืองไกร ระบุว่า กรณีของนายเศรษฐา นั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งมีมูลเหตุจากการตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่บุคคลนั้นเคยถูกศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกมาฉะนั้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในทำนองที่คล้ายกัน คือการที่นายกรัฐมนตรีตั้งบุคคลที่มีลักษณะเคยต้องโทษจำคุกดังกล่าว จึงถือว่านายกรัฐมนตรีมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อนำแนวคำวินิจฉัยมาเทียบเคียงกับกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งแต่งตั้งนายสุรพงษ์ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว และกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้วเช่นกัน กรณีจึงน่าจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)
จากกรณีดังกล่าวตนจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. รีบทำการตรวจสอบต่อไปโดยด่วน และหาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต. รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ตามความในมาตรา 170 วรรคสาม พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามความในมาตรา 82 วรรคสอง ด้วย