เลือกตั้งและการเมือง

“มาริษ” ร่วมประชุมสหประชาชาติ UNGA79 นครนิวยอร์ก ขึ้นโพเดียมกล่าวถ้อยแถลง

โดย JitrarutP

4 ชั่วโมงที่แล้ว

21 views

“มาริษ” ร่วมประชุมสหประชาชาติ UNGA79 นครนิวยอร์ก กล่าวถ้อยแถลง ยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสร้างอนาคตร่วมกันของโลก

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 (79th Session of the United Nations General Assembly: UNGA79) ระหว่างวันที่ 22 - 28 กันยายน 2567 ที่นครนิวยอร์ก

ในช่วงการประชุม UNGA79 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) และในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) โดยจะย้ำการมีเสถียรภาพ ศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการสานสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยเน้นบทบาทไทยในฐานะประเทศที่เป็นสะพานเชื่อมและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ซึ่งพร้อมร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลกและสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกในปัจจุบันและอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์ ยาเสพติด และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและปรับปรุงการทำงานของสหประชาชาติเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี Foreign Policy and Global Health Initiative ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทนำของไทยในประเด็นด้านสาธารณสุขในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นประธานงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027  รวมถึงมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ และพบกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (ASEAN-US Business Council: USABC) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อีกทั้งจะกล่าวสุนทรพจน์ที่ Asia Society

ในส่วนของกำหนดการอื่น ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานการประชุมทีมประเทศไทย เพื่อมอบนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และพบกับชุมชนชาวไทยในนครนิวยอร์ก เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างชุมชนไทยเข้มแข็งในต่างประเทศ

และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยการประชุมได้รับรองคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง (Declaration on Future Generations) และคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact)

รัฐมนตรีฯ กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “Multilateral Solutions for a Better Tomorrow” แสดงความเห็นต่อการสร้างอนาคตร่วมกันของโลกว่า ทุกคนจะได้รับการปกป้องและมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน โดยได้เน้นประเด็นต่าง ๆ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การต่อต้านยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติและไซเบอร์ การปฏิรูปสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้สถาปัตยกรรมโลกสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมพลังของเยาวชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอนาคตที่ต้องการ

ประเทศไทยสนับสนุนให้กระบวนการจัดทำ Pact for the Future สะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมให้ความเห็นต่อการยกร่างเอการดังกล่าว พร้อมหวังว่าเอกสารดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลก และให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในปีนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสหประชาชาติและ Summit of the Future ให้กับสาธารณชนด้วย

การประชุม Summit of the Future มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกำหนดประเด็นสำคัญและทิศทางการดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง และรักษาให้สหประชาชาติยังคงมีบทบาทและความหมาย (relevance) ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของรัฐสมาชิก


คุณอาจสนใจ

Related News