เลือกตั้งและการเมือง
รัฐบาล 'เศรษฐา' 358 วัน ทำนโยบายอะไรแล้ว ทำอะไรอยู่ แล้วจะทำต่อหรือไม่
โดย paweena_c
15 ส.ค. 2567
134 views
ผ่านเกือบ 1 ปี มองรัฐบาลเศรษฐา หลังแถลงนโยบาลต่อรัฐสภา ทำอะไรแล้ว ทำอะไรอยู่ แล้วจะทำต่อหรือไม่
ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศเจตนารมณ์ ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรบ้าง
สำหรับรัฐบาลเศรษฐา นอกจากผลงานทัวร์รอบโลก 15 ประเทศแล้ว ก็มีผลงานด้านนโยบายที่เคยประกาศไว้ หลายนโยบายเริ่มเห็นความคืบหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีนโยบายที่ไม่ค่อยคืบหน้าเช่นกัน
นโยบายที่เริ่มทำแล้ว คืบหน้าแล้ว ทั้งหมด 9 นโยบาย
“กฎหมายสมรสเท่าเทียม”
นโยบายที่ผู้คนชื่นชมจำนวนมาก โดยทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ก็เร่งผลักดันนโยบายดังกล่าวเป็นอันดับแรก โดยหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรส LGBTQ+
“พ.ร.บ.อากาศสะอาด”
ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่าจะแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ต้นตอ โดยจะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สอดรับกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายาม เคลื่อนไหว พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักการเพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น การก่อมลพิษข้ามพรมแดน ไฟป่า ที่กระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศ
“แก้หนี้นอกระบบ / พักหนี้เกษตรกร”
ด้วยปัญหาหนี้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่น ๆ ในสังคมตามมา รัฐบาลจึงมีนโยบายมีการพักหนี้เกษตรกรเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 มีการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย โดยคนที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,679,033 ราย (คิดเป็น 80 % ของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทั้งหมด) รวมจำนวนเงินที่พักชำระหนี้ 236,136 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการแถลงความคืบหน้าหนี้ทั้งระบบเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 โดยมีการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 คน (คิดเป็น 57% จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย) มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท (จากมูลค่าหนี้รวมทั้งหมด 9,800 ล้านบาท)
“ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)”
หนึ่งในนโยบายที่มีการพูดถึงมากที่สุด มีการกำหนดอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 11 ด้าน และประยุกต์ต่อในหลาย ๆ ด้าน ทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝั่งประชาชน เช่น งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ที่มีการจัดงาน 21 วัน หรือกางเกงช้าง รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. THACCA เพื่อให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
โดย สำนักงาน “THACCA” จะทำหน้าที่บริหาร จัดสรรงบประมาณ มีภารกิจผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล แต่ตามแผนเดิมจะถูกจัดตั้งในปี 2568
“การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์”
ที่ผ่านมา ความพยายามในการออกกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม รวมประมาณ 6.1 ล้านคน โดยปัจจุบัน ร่างกฎหมายผ่าน ครม.เรียบร้อยแล้ว
“ระบบประกันสุขภาพ”
หลังครม.มีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 7 คน ก็ได้สร้างโครงการมากมาย ประกอบด้วยโครงการบัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกโรงพยาบาลรัฐภายในเวลา 1 ปี โครงการ Hospital at Home จังหวัดละแห่ง คลินิกรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ฉีดวัคซีน HPV ครบ 1 ล้านโดสใน 100 วัน จัดตั้งโรงพยาบาล 50 แห่งใน 50 เขต กทม. เปิดให้มีคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล และ จัดตั้งโรงพยาบาลสุขภาพจิต มินิธัญญารักษ์ ใน 76 จังหวัด 92 แห่ง
“ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน”
ลดค่าน้ำค่าไฟ และน้ำมันเชื้อเพลิง ในระยะสั้น 3 เดือน ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และตรึงค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย พร้อมคงราคาดีเซล 33 บาท/ลิตร จนถึง 31 ต.ค. 6
“สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)”
ส่งเสริมการใช้และผลิตรถให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) สำหรับรถ และส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast รวมถึงเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดระยองโดยบริษัท บีวายดี กรุ๊ป (BYD) และรอครม.อนุมัติการสนับสนุนระยะที่ 2 ซึ่งจะมีผลในเดือนมกราคม
“ใช้ประโยชน์ในที่ดินพื้นที่ทหาร”
รัฐบาลทำงานร่วมกับกองทัพไทย ในการที่จะมอบที่ดินให้กับประชาชนทำสัญญาเช่าราคาถูก นำร่องทยอยมอบที่ดินในพื้นที่กองทัพให้ประชาชนใช้ประโยชน์ พื้นที่แรก "หนองวัวซอโมเดล" ที่อุดรธานี
นโยบายที่ทำอยู่ (แต่อาจยังไม่ตรงตามเป้า)
หลายนโยบายที่ได้รับความสนใจ ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้ ในช่วงเลือกตั้ง หลังดำรงตำแหน่งผ่านมา 358 วัน หลายนโยบายยังมีจุดติดขัด-สะดุด หรือยังไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งหมด 14 นโยบาย
“ฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง”
มีการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย ของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ถึงแม้จะได้รับการจัดระดับให้อยู่ในระดับ 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2024 ของสหรัฐฯ แต่ก็ยังรอพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดประมง
“สันติภาพชายแดนใต้”
มีการจัดเวทีพูดคุย โดยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและมีทุกกลุ่มเข้ามาร่วม ทั้งเวทีแบบเปิดและปิด และทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ซึ่งรอการลงนามอยู่ ล่าสุด 10 ส.ค. 67 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติปลดล็อก คำสั่ง คสช. เพื่อหวังกรุยทางสู่สันติภาพชายแดนใต้
“การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก”
สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศผ่านการทูต แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ การใช้เครื่องมือทางการทูต ผลักดันเป้าหมายทางเศรษฐกิจและ การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและช่องทางทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันเป้าหมายด้านการต่างประเทศ เข้าร่วมองค์กรระดับโลก IPEF BRICS และ OECD ซึ่งล่าสุดมีมติเอกฉันท์เห็นชอบเชิญประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก รวมถึงรอเร่งเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) เจรจายกระดับพาสปอร์ตไทย โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า
“ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ”
เพื่อให้ประชาชนมีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยตั้งเป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันโดยเร็วที่สุด และได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนคนจบปริญญาตรีและข้าราชการเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570
ปัจจุบันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถึงเป้าหมายแรก หรือ 400 บาทต่อวันตามที่ได้ตั้งไว้ โดยราชกิจจานุเบกษาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศ มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 330 – 370 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในธุรกิจโรงแรม 10 จังหวัดท่องเที่ยว วันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีผล 13 เม.ย. 2567
“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”
หนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ของรัฐบาลในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
ปัจจุบัน นโยบายนี้ถูกใช้กับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีม่วง) เท่านั้น
“โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)”
เมกะโปรเจกต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แม้ทางรัฐบาลจะมีการ Road show และเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาร่วมลงทุน
แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากทางฝ่ายค้านถึงความคุ้มค่าของการลงทุน และการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์ระนอง เนื่องจากความกังวลว่าจะกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
“ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท”
นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ถูกจับตามากที่สุด ด้วยเป้าหมายเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบ ปัจจุบันมีการอธิบายกฎเกณฑ์และอนุญาติให้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
ส่วนเรื่องที่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถูกปลดจากเก้าอี้นั้น พรรคเพื่อไทยระบุไม่ส่งผลต่อนโยบายนี้ โดยกำลังเร่งประชุมเพื่อดำเนินโยบายต่อ
“แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.”
นโยบายแก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นนโยบายด้านเกษตรที่สำคัญของรัฐบาล ควบคู่กับนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ ด้วยการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ทั่วประเทศ โดยที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นับเป็นเป้าหมายในนโยบายของรัฐบาล
มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฝั่งอุทยานฯ) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝั่ง ส.ป.ก.) โดยใช้ One Map แก้ปัญหานำร่องพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด แต่ก็พบปัญหาฉ้อโกงเกิดขึ้น ทำให้นโยบายนี้หยุดชะงักและรอดำเนินคดี
“ส่งเสริมการมีบุตร”
หลังจากรัฐบาลมีการประกาศ “การส่งเสริมการมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติแล้วนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ก็ระบุจะเสนอร่างวาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นตั้งคลินิกอนามัยเจริญพันธุ์จังหวัดละ 1 แห่ง และคัดกรองป้องกันมะเร็ง ปัจจุบันรอครม.พิจารณา
“แก้หนี้ครู”
สพฐ. ประกาศตั้งศูนย์แก้หนี้ครู ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ. จำนวน 6 แสนคน ขับเคลื่อนมาตรการลดภาระหนี้สินครู และตั้งอนุกรรมการฯ แก้หนี้ครู 7 คณะ แล้วส่งต่อให้ คกก.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปัจจุบันมีการทำ MOU ของ ศธ. กับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง
“ระบบสุขภาวะทางจิต”
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้บรรจุนโยบายด้านสุขภาพจิตไว้เป็น 1 ในนโยบาย "ยกระดับ 30 บาทพลัส" เพิ่มการบริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้มีโรงพยาบาลให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด ส่งเสริมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสร้างภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิต จัดงาน ‘Hack ใจ - เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ รวบรวมไอเดียการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ผ่านกระบวนการ Hackathon ครั้งแรกในไทย และเตรียมขับเคลื่อนไปสู่นโยบายต่อไป
“บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”
ด้วยสภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมาก รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน ล่าสุดครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง วงเงิน 9,187 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน
“เรียนดีมีความสุข (ลดภาระครู-นร.)”
นโยบายการศึกษา เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งผู้ปกครอง หวังยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีแนวคิดหลัก 2 ข้อ คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต มีการลดชั่วโมงการทำงานของครู โดยล่าสุดครม.มีมติยกเลิก "ครูเวร" ทั่วประเทศ และผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อ เช่น การผ่อนผันชุดนักเรียน ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง
“สภาพแวดล้อมที่เอื้อทำธุรกิจ หรือ (BEE)”
รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 4 ด้าน เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรค โดยหลัง ครม. อนุมัติหลักการ นายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้เร่งระบบอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจเกิดขึ้นจริงภายใน 1 ก.ย. และเปิดระบบได้เต็มรูปแบบภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567
นโยบายที่ (ไม่) คืบหน้า คืบไปช้า ๆ
ส่วนนโยบายที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปอย่างช้าๆนั้น มีทั้งหมด 5 นโยบาย
“สังคมสูงวัย”
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ผู้สูงอายุกลายเป็นนโยบายระดับรัฐบาลครั้งแรก ที่มีบทบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยรัฐบาลชุดนี้มีเป้าหมายส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25-59 ปี 65% มีการเตรียมความพร้อมในช่วง 5 ปี โดยกระทรวงการคลัง เปิดตัวหวยเกษียณช่วยคนไทยเก็บออมเงินไว้ใช้ตอนชรา และลดภาระงบฯรัฐบาล โดยแจกรางวัลทุกวันศุกร์ ส่วนค่าซื้อหวยจะเป็นเงินออมให้ผู้ซื้อส่งเข้ากอช. ซึ่งจะถอนออกมาได้ตอนอายุ 60 ปี
“แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน”
นายกฯเศรษฐา มีการประกาศขจัดปัญหาคอร์รัปชันโดยการใช้หลักนิติธรรม และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หน่วยงานรัฐรณรงค์ "นโยบายไม่รับของขวัญ" หรือ No Gift Policy แม้ว่าล่าสุด ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ…. แต่ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าว
“การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
รัฐบาลสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่การเปิดประตูสู่การค้าโลก แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนงาน
“แก้ไขรัฐธรรมนูญ”
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ และจะมีการทำประชามติต่อไป
แม้คณะกรรมการจะพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อแต่อย่างใด
“แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)”
แม้ ครม. จะเห็นชอบมาตรการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 มีการกำหนดเป็นมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติ แต่ไม่มีการกำหนดแผนแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา การดำเนินการแก้ฝุ่น PM2.5 จึงเน้นไปที่ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็นส่วนใหญ่
แท็กที่เกี่ยวข้อง เศรษฐาทวีสิน ,นโยบายรัฐบาล ,นโยบายเพื่อไทย ,นายกรัฐมนตรี ,รัฐบาลเศรษฐา