เลือกตั้งและการเมือง

ด่วน! ศาลมีมติ 5:4 ชี้ 'เศรษฐา' พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

โดย JitrarutP

14 ส.ค. 2567

4.9K views

ไม่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ชี้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณีร้องถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากกรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ประเด็นที่พิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องเป็นกรณีที่ สว. 40 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน  10 เข้าชื่อขอให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลรับไว้เฉพาะกรณีคุณสมบัติของนายเศรษฐา เนื่องจากนายพิชิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯแล้ว

เมื่อพิจารณาคำร้องและคำชี้แจงเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอจะวินิจฉัย และกำหนดประเด็นว่า ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง ตาม รธน.หรือไม่ โดยเห็นว่า รธน. มาตรา 160 และ 170 บัญญัติเรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับแก่ ครม. ด้วย

โดยมาตรฐานจริยธรรมบอกว่า ต้องถือประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และไม่กระทำการที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ไม่กระทำการใดที่ทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ไม่คบหากับผู้ทำผิดกฎหมาย หรือกระทำเสื่อมเสีย ซึ่งหากไม่ทำตามจะร้ายแรงหรือไม่ให้ดูพฤติกรรม และปรากฏเจตนาตาม รธน.ว่าได้วางกลไกป้องกันการตรวจสอบที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้ผู้บริหารใช้อำนาจตามอำเภอใจ

การดำรงตำแหน่ง รมต. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม เป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ รธน. ที่ต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า สส. เพราะเป็นผู้บริหาร การพิจารณาว่าใครมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม เป็นหน้าที่ของ นายกฯ ในการนำความกราบบังคมทูลฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ ลงพระปรมาภิไธยตามที่มีการเสนอ

การนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องพิจารณาเรื่องความชอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายพิชิต เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาฯ กรณีการนำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้ศาลฎีกา โดยมีเจตนาจูงใจให้ตุลาการทำหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไม่เรียบร้อยบริเวณศาล และละเมิดอำนาจศาล และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนต่อเจ้าพนักงาน โดยการกระทำดังกล่าวย่อมตระหนักว่าจะทำให้เสื่อมเสียสถาบันยุติธรรมจึงสั่งจำคุก และต่อมาสภาทนายความก็มีคำสั่งว่ามีการกระทำผิดมรรยาทนายความ และลบชื่อนายพิชิตออกจากทะเบียนทนายความ

ต่อมามีการตั้งนายเศรษฐา เป็น นายกฯ แต่ไม่ปรากฏชื่อนายพิชิตเป็น รมต. แต่ต่อมามีการแต่งตั้งในการปรับ ครม.จึงมีมูลว่า ความเป็น รมต.ของ นายกฯ ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่

การที่ผู้ร้องอ้างว่าควรรู้อยู่แล้วในการแต่งตั้ง เพราะเคยถูกต้องโทษในการละเมิดอำนาจศาล และถูกสภาทนายความลบชื่อออก แม้กฤษฎีกาบอกว่าได้พ้นโทษมาเกินสิบปี และไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม แต่ความเห็นก็เป็นไปโดยจำกัด ไม่รวมลักษณะต้องห้ามตาม รธน. เมื่อมีประกาศแต่งตั้ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในการปรับ ครม.จึงมีปัญหาว่า ผู้ถูกร้องรู้หรือควรรู้ถึงพฤติการณ์ที่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

จากการไต่สวน นายกฯ และ เลขาฯครม. การนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติโดยสำนักเลขาฯครม. ซึ่งหากมีปัญหาก็จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อพิจารณากระบวนการ นายกฯ ย่อมต้องทราบถึงลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกและประพฤติผิดมรรยาททนายความจนต้องถูกถอดชื่อ ก่อนการตัดสินใจแต่งตั้ง

และเมื่อรู้หรือควรรู้แต่ยังคงเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นกรณีที่ไม่มีความซื่อสัตย์ฯ หรือไม่ เห็นว่าพฤติการณ์ของนายพิชิต  เป็นการกระทำไม่ซื่อสัตย์เพราะไม่เกิดให้ความเชื่อมั่นศรัทธาหรือเชื่อถือได้ หากเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมไม่ถือว่าซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อนายพิชิตมีพฤติกรรมต้องห้าม การเสนอชื่อย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่ามีภูมิหลังจำกัดจึงไม่อาจวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้  และไม่สมควรอย่างยิ่ง และไม่คำนึงบทบัญญัติ รธน.การเสนอตำแหน่งต้องไม่ได้อาศัยความไว้วางใจส่วนตนเท่านั้น แต่ต้องน่าเชื่อถือจากสาธารณชนด้วย ดังนั้นผู้ถูกร้องจึงขาดคุณสมบัติความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

การที่นาย เศรษฐา อ้างว่ามีประสบการณ์การเมืองจำกัดไม่สามารถวินิจฉัยได้ไม่อาจรับฟังได้

ส่วนการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม นายกฯ ได้นำความกราบบังคมทูลเป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง และยินยอมให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม ผู้ถูกร้องจึงมีลักษณะต้องห้าม  

การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมฝ่าฝืนเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ  ส่วนหน้าที่อำนาจศาลฎีกาฯกำหนดให้มีอำนาจวินิจฉัยคดีมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ว่าดำรงตำแหน่งหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่าผู้ถูกร้องรู้หรือควรรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมแต่ยังเสนอแต่งตั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แสดงว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้การฝ่าฝืนให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อาศัยเหตุผลดังกล่าว เสียงข้างมาก 5:4 สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เมื่อความเป็นนายกฯ สิ้นสุด ครม.ต้องพ้นทั้งคณะเช่นกัน แต่ยังรักษาการได้อยู่

คุณอาจสนใจ

Related News