เลือกตั้งและการเมือง
โรงพิมพ์เอกชน ร้อง ป.ป.ช. เอาผิด ‘รมว.ศธ.-พวก’ ส่อทุจริตจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2567 ขององค์การค้าของ สกสค.
โดย olan_l
6 ส.ค. 2567
298 views
วันนี้ (6 ส.ค.67) นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กับพวก รวม 18 ราย ประกอบด้วยคณะกรรมการ สกสค., คณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค., ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค., คณะกรรมการออกข้อกำหนด TOR, คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และบริษัทเอกชน 5 ราย จากกรณีการทุจริตขององค์การค้าของ สกสค.ในการจัดจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนประจำปีการศึกษา 2567 มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะที่เข้าร่วมการประกวดราคาโครฃการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 ขององค์การค้าของ สกสค. เห็นว่า มีการร่วมกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ 2542 และ รมว.ศึกษาธิการ ได้ปล่อยปละละเลยไม่มีการตรวจสอบ ทั้งที่ บริษัทฯ ได้ยื่นร้องเรียนถึง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้ตรวจสอบหลายครั้ง ตั้งแต่การประกาศ TOR และหลังจากมีการประกาศผลการประกวดราคา โดยได้นำผลคำพิจารณาของกรมบัญชีกลางมาประกอบคำร้องเพื่อให้ ป.ป.ช.ได้พิจารณาด้วย
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 ขององค์การค้าของ สกสค.และให้มีการประกวดราคาใหม่ เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไข TOR การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 จำนวน 151 รายการ โดยให้แต่ละโรงพิมพ์ สามารถเสนอราคาได้เพียง 30 รายการ จาก 30 กลุ่ม คือเสนอได้กลุ่มละ 1 รายการ โดยกรมบัญชีกลางระบุว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอรายการได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นเสนอ เป็นการกระทำขัดกับมาตรา 8 วรรค 1 (2) ของพ.ร.บการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560
“บริษัทฯ ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพล.ต.อ.เพิ่มพูน ในฐานะประธานกรรมการ สกสค.และประธานกรรมการองค์การค้าของ สกสค.เมื่อ 28 ก.พ.67 เพื่อให้ตรวจสอบ และมีการระงับการจัดซื้อจัดจ้าง แต่กลับละเว้นไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้มีการเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียน อ้างว่าได้มีการตรวจสอบและเกิดความโปร่งใส จนทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีพิรุธ น่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนรายเดิมๆประมาณ 4-5 ราย มีการยื่นเสนอรายการแบบเรียนที่ไม่ซ้ำกัน ในลักษณะอาจจะมีการตกลงพูดคุยกันภายในกลุ่มหรือไม่ อีกทั้งเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง 9% ในปี 2566 แต่ในปี 2567 เสนอราคาต่ำกว่าราคา 2-5% กลับได้รับงาน ขณะที่บริษัทตัวเองต้องเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยรวม 13%
"เราเคยเข้าร่วมประมูล แต่โดนกีดกันมาโดยตลอด ในปี 65 โดนตัดคุณสมบัติห้ามผลิตแบบเรียนให้กับบริษัทคู่แข่ง ปี 66 ก็ออกข้อกำหนดเช่นเดิมหวังกีดกันเราอีก แต่บริษัทฯ ไปยื่นศาลปกครอง ซึ่งมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ TOR ขององค์การค้าของ สกสค.คือเรื่องห้ามมีกรณีพิพาทในการเข้าประมูล เรื่องห้ามพิมพ์แบบเรียนให้กับคู่แข่ง แต่พอประกาศผลออกมากลับใช้วิธีที่ไม่ค่อยโปร่งใส มาตัดคะแนนผมถึง 6 คะแนน ซึ่งการที่ผมจะชนะราคาได้จะต้องเสนอต่ำกว่าคนอื่นถึง 12% ซึ่ง 6 คะแนนที่ถูกตัด อ้างว่าผมไม่ได้ซื้อกระดาษกับผู้ผลิต โดยใน TOR ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ ขณะที่เอกชนบางรายที่เหลือ ก็ใช้กระดาษบางรายการที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย แต่กลับให้คะแนนเขาเต็มอันนี้ก็น่าตั้งข้อสังเกต ว่าดุลยพินิจอะไร ผมขอไม่ให้รายละเอียดอะไรมาก เพราะเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาล" นายนัทธพลพงศ์ ระบุ
นายนัทธพลพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ตนยังยื่นให้ตรวจสอบเรื่องกระบวนการผลิตในครั้งต่อไป ทั้งที่ในกระบวนการผลิตตาม TOR กำหนดว่าหนังสือแบบเรียนชั้นปฐมศึกษาและระดับมัธยมกำหนดว่าปกหนังจะต้องเคลือบลามิเนตได้ แต่ในหนังสือระดับมัธยมกลับไม่มีการเคลือบสารดังกล่าว ทำให้นักเรียนได้รับหนังสือที่ต่ำกว่าคุณภาพที่ควรจะเป็น ทั้งที่สูญเสียงบประมาณสูง ในขณะที่ สกสค.ออกมาแถลงว่าไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นหน่วยงานที่ต้องส่งรายได้ให้กับรัฐ ตนเห็นว่าประเด็นนี้ทำให้รัฐเกิดความเสียหายเป็นเงินมหาศาลในแต่ละปี
นายนัทธพลพงศ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ที่ระบุว่ามีการตรวจสอบและเกิดความโปร่งใสนั้น แต่กลับขัดแย้งกับผลการตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง จึงมีความกังวลว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในปีถัดไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง โรงพิมพ์เอกชน ,ส่อทุจริต ,ป.ป.ช.