เลือกตั้งและการเมือง
กมธ.ป.ป.ช. บี้ เช็คบิล หลัง สพฐ.สารภาพแบบเรียนปี 66 ไม่ตรงทีโออาร์
โดย olan_l
25 ก.ค. 2567
180 views
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช.เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 และปีการศึกษา 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) นัดที่ 2
ในการประชุมได้เชิญ ผู้แทนองค์การค้าของ สกสค. ในฐานะผู้ถูกร้อง, ผู้แทนกรมบัญชีกลาง, ผู้แทนกรมศุลกากร, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ผู้แทนบริษัท ซี.เอ.เอส.เปเปอร์ จำกัด (บจ.ซี.เอ.เอส.ฯ) และผู้แทนบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจ.รุ่งศิลป์ฯ) ในฐานะผู้ร้อง เข้าร่วมชี้แจง
นายปรีติ เจริญศิลป์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.ฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้มีการสอบถามผู้เข้าร่วมชี้แจงในหลายประเด็น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ทาง สพฐ.ยอมรับว่า หลังตรวจสอบตามข้อร้องของ บจก.รุ่งศิลป์ฯ เรื่องแบบเรียนปี 2566 ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด กรณีไม่ได้เคลือบปกลามิเนตนั้น หลังให้ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบก็พบว่าเป็นไปตามที่ร้องเรียนเข้ามา และส่งผลให้ราคาหนังสือที่ไม่มีการเคลือบลามิเนตควรต่ำลงเล่มละ 1-2 บาท เท่ากับว่าไม่ได้ปฏิบัติตามทีโออาร์ แต่กลับมีการตรวจรับงาน ซึ่ง สพฐ.ระบุว่า กำลังมอบหมายให้นิติกร พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร และ กมธ.ก็จะเชิญ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมชี้แจงในการประชุมครั้งต่อไปในกรณีนี้ และในประเด็นอื่นๆด้วย
“ทั้งเรื่องการตรวจรับงานที่ไม่เป็นตามข้อกำหนด และอีกหลายๆ ประเด็นที่ส่อไปในทางขัดจ่อกฎหมาย ควรจะมีเจ้าภาพเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมครั้งต่อไปจึงจะเชิญ สตง.เข้ามาเพื่อสอบถามแนวทางการดำเนินงานต่อไป” นายปรีติ ระบุ
นายปรีติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสเปกกระดาษที่มีข้อสังเกตว่า การกำหนดให้บริษัทกระดาษที่เป็นผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับรองกระดาษให้แก่แต่ละโรงพิมพ์ อาจเข้าข่ายล็อกสเปกได้นั้น บจ.ซี.เอ.เอส.ฯ ชี้แจงว่า กระดาษที่ระบุในทีโออาร์เป็นกระดาษที่สามารถนำเข้าได้ทั่วไป มีอีกหลายบริษัทที่มีศักยภาพในการนำเข้าและสต๊อกกระดาษเช่นเดียวกับ บจ.ซี.เอ.เอส.ฯ ในการประชุมครั้งต่อไป กมธ.จึงจะเชิญบริษัทกระดาษเจ้าอื่นมาให้ข้อมูลในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีการสอบถามถึงข้อพิรุธที่ทางองค์การค้าของ สกสค.ทำการจ่ายค่าจ้างผลิตแบบเรียนให้กับทาง บจ.ซี.เอ.เอส.ฯแทนที่จะเป็นบริษัทโรงพิพม์คู่สัญญาด้วย ซึ่ง องค์การค้าของ สกสค. และ บจ.ซี.เอ.เอส.ฯ ก็ยอมรับว่าเป็นข่าวจริง แต่เป็นการโอนสิทธิ์ตามหลักกฎหมายแพ่งทั่วไป และเป็นเพียงยอดบางส่วนของค่าจ้างตามสัญญาเพื่อชำระค่ากระดาษเท่านั้น เรื่องนี้ กมธ.ยังติดใจสงสัยพอสมควรว่า กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้หรือไม่ จึงได้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมย้อนหลังเพื่อตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง
ในการประชุม กมธ.ได้สอบถาม กรมบัญชีกลาง ถึงการอนุญาตให้ องค์การค้าของ สกสค. ใช้รูปแบบคัดเลือก ในการประกวดราคาโครงการพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ซึ่งผู้แทนกรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า ในการกำหนดขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) และการกำหนดรูปแบบเป็นการคัดเลือก แทนการประกวดราคาด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นั้น ทาง องค์การค้าของ สกสค. ได้ทำหนังสือหารือมายังกรมบัญชีกลางระบุว่า เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตร ทำให้ห้วงการผลิตแบบเรียนประจำปี 2567 เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนมีความกระชั้นชิด จึงจำเป็นที่จะต้องใช้รูปแบบการคัดเลือกในการจัดจ้างผู้ผลิตแบบเรียน ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ก็เห็นว่า องค์การค้าของ สกสค. สามารถใช้วิธีการคัดเลือกได้ หากจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่ได้มีการหารือในส่วนของการแบ่งกลุ่มเป็น 30 กลุ่ม ตามที่ผู้ร้องระบุว่า ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ทั้งตามปกติแล้วต้องให้มีการแข่งขันในทุกรายการ
กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ร้องได้ร้องคัดค้านผลการคัดเลือกโครงการพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2567 ให้หลังจากการประกาศผล 2 วัน ซึ่งยังไม่มีการลงนามในสัญญาว่าจ้าง ไปยัง กรมบัญชีกลาง เหตุใดจึงไม่ระงับยับยั้ง ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทาง กรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเรื่องร้องเรียน ที่กำหนดภายใน 15 วัน จึงไม่สามารถยับยั้งได้ในทันที ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง ไม่มีส่วนในการได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดสเปกของกระดาษ รวมทั้งไม่มีอำนาจในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการตามที่มีการร้องเรียน โดยเป็นอำนาจของหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สตง. เป็นต้น
ในส่วนประเด็นที่ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า องค์การค้าของ สกสค.เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐนั้น ทาง กรมบัญชีกลาง ยืนยันว่า องค์การค้าของ สกสค.เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง)
ด้าน นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บจ.รุ่งศิลป์ฯ กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมว่า อยากฝากทาง กมธ.ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเข้าสู่ฤดูการพิมพ์แบบเรียนปี 2568 แล้ว และทางองค์การค้าของ สกสค.ก็ได้ยอมรับว่า มีการตรวจรับแบบเรียนที่ไม่ทำตามข้อกำหนดในทีโออาร์ ถือว่าทำให้ระบบการศึกษาไทยเสียหายเป็นอย่างมาก และการตรวจสอบทางองค์การค้าของ สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะมีการกระทำที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กระทรวงสิ้นเปลืองงบประมาณกว่าที่ควรไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
“ควรใช้กรณีนี้ปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะได้พัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เท่าทันโลก และเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ หรือเอกชนอื่นที่มีความพร้อมในการสร้างรากฐานของประเทศให้แข็งแรง และก้าวทันโลกเข้ามาดูแลการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับรากฐานของการศึกษาไทย” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ.
แท็กที่เกี่ยวข้อง กมธ.ป.ป.ช. ,สพฐ. ,เช็คบิล