เลือกตั้งและการเมือง

เลือกข้ามวัน 'สว.67' วิธีการซับซ้อน ผ่าน 20 ชม. กว่าจะได้ ว่าที่ 'สมาชิกวุฒิสภา' ชุดใหม่ 200 คน

โดย paweena_c

27 มิ.ย. 2567

50 views

เลือกกันแบบข้ามวัน 'สว.67' พบวิธีการซับซ้อน ลากยาว 20 ชม. กว่าจะได้ ว่าที่ 'สมาชิกวุฒิสภา' ชุดใหม่ 200 คน

จบลงไปแล้วกับกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เรียกได้ว่าเลือกกันแบบข้ามวัน ใช้เวลารวมกว่า 20 ชม. ขณะเดียวกันก็มีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างทาง ก่อนจะได้รายชื่อว่าที่ สว. ชุดใหม่ 200 คน

คึกคักตั้งแต่เช้า วันที่ 26 มิ.ย. ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ผู้สมัคร สว.ทยอยเดินทางมาถึงก่อนเริ่มเลือก สว.ระดับประเทศ เริ่มรายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 09.00 น. มีผู้สมัครมายืนยันตัว 2,995 คน อยู่ในกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม ที่ผ่านการเลือกมาแล้วจากระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ก่อนมาถึงระดับประเทศ โดยการคัดเลือกรอบนี้จะแบ่งเป็น 2 รอบย่อย คือ รอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และรอบเลือกไขว้กลุ่มอาชีพอื่นในสายเดียวกัน

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือก สว.ระดับประเทศ พบความเคลื่อนไหวในการพยายามเกาะกลุ่มรวมตัวของผู้สมัคร สว.หลากหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของนักข่าวว่า กกต.มองอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ย้ำว่า ทางกกต.รับทราบทุกอย่าง แต่การรวมตัวนั้นจัดอย่างเปิดเผย ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามผู้สมัครพบปะและแนะนำตัวกัน “ดังนั้นกระบวนการนี้ถือว่าทำโดยสุจริต แต่ไม่ต้องห่วง เพราะทุกเหตุการณ์ กกต. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย”

ส่วนโผรายชื่อของแต่ละกลุ่มอาชีพที่ถูกส่งต่อตามห้องไลน์ต่าง ๆ นั้น ประธาน กกต. ให้ความเห็นว่า "ถ้าทำเป็นการเสนอข้อคิดเห็นว่าตามบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่โพล ก็ไม่เป็นไร ยังถือว่าอยู่ในกฎหมาย"

กับกระแสข่าวมีการจ่ายเงิน “จ้างโหวต” ตั้งแต่หลักแสนยันหลักล้าน ทางประธาน กกต. กำลังดำเนินการ หากมีอะไรน่าสงสัยก็จะรวบรวมหลักฐานและดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เวลา 09.00 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจความเรียบร้อยก่อนการเปิดลงทะเบียนการเลือก สว. กล่าวว่า เฉลี่ยผู้สมัครในแต่ละกลุ่มมีประมาณ 120-150 คน ยืนยันว่าจะดำเนินการไปจนกว่าจะได้ สว. ครบ 200 คน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 18.00 น.  

เวลา 14.00 น. ผลการเลือกรอบกลุ่มอาชีพออกมา พบว่าคนดังบางส่วน 'ตกรอบ' และต้องกลับบ้านไป เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ยืนยันสั้นๆ ว่า "ตกรอบ" , นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ , นายฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ หรือ "กล้วย เชิญยิ้ม"

ขณะที่ น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ อดีตบก.บห.สำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นหนึ่งในผู้สมัคร สว.ที่ตกรอบ ให้สัมภาษณ์อ้างว่า โดนติดต่อให้รับเงินหลักแสน แลกเข้ากลุ่ม 2 วันล่วงหน้า ก่อนถึงวันเลือก สว.ระดับประเทศ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดแถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการเลือก สว. รอบแรก "เลือกกันเอง" ในกลุ่มอาชีพ โดยระบุว่าภาพรวมว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้สมัคร สว. แต่ด้วยกระบวนการเลือกที่มีผู้สมัครกลุ่มละ 154 คน รวม 20 กลุ่ม การนับคะแนนของบัตร 1 ใบ เจ้าหน้าที่ต้องอ่านและขานคะแนนบัตรละ 10 ครั้ง ทำให้เลยเวลาจากที่ประมาณการไว้ ส่วนภาคบ่ายด้วยจำนวนคนที่ลดลง จึงคาดว่าจะเสร็จสิ้นที่เวลา 20.00 น. แต่ยังไม่รวมระยะเวลาการนับคะแนน

นายแสวงกล่าวถึง การทักท้วงตามสิทธิของผู้สมัคร ทั้งการขานและขีดคะแนน พบว่าส่วนใหญ่เป็นการทักท้วงหลังจากทราบผลคะแนนแล้ว ไม่ได้เป็นการทักท้วงระหว่างการขานและขีดคะแนน อีกเรื่องคือ ปัญหาเรื่องกล้องวงจรปิด ที่กกต.บอกว่ามีไว้สำหรับใช้เป็นเอกสารหลักฐานในชั้นศาลหากมีการทักท้วงเท่านั้น และเป็นปัญหาทางเทคนิคในการนำเสนอภาพออกมาให้เห็นเฉยๆ

ด้านเครือข่ายภาคประชาชนที่มาสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว. ก็ได้ออกมาวิจารณ์กระบวนการจัดการของ กกต. ว่า “ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเลย”

โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือที่รู้จักกันในนามของ ไอลอว์ กล่าวว่า การเลือก สว. มี 20 กลุ่ม แต่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมได้แค่ 15 คนจากทุกองค์กร มันไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ครบทุกกลุ่ม และการที่ กกต. ให้เหตุผลว่าสถานที่ไม่เพียงพอ เมื่อดูจากกล้องวงจรปิดเห็นว่ามีสถานที่ และมีเจ้าหน้าที่อยู่ข้างในจำนวนมาก ไม่รู้ว่าปฏิบัติหน้าที่อะไร หากมีการประท้วงว่าการนับคะแนนผิดพลาด เราคงไม่สามารถเป็นพยานให้ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือไม่  ภาพที่กกต.ให้เห็นไม่มีอะไรเลย ภาพมีมุมเดียว ส่วนใหญ่เดินตามผู้ใหญ่ของ กกต. จน 11.00 น ก็ยังไม่ทราบเลยว่าด้านไหนทำอะไร และขั้นตอนถึงไหนแล้ว

เช่นเดียวกับ นายกฤต แสงสุรินทร์ ตัวแทนจากวีวอต์ช (We Watch) บอกว่า จุดที่ผู้สังเกตการณ์อยู่เป็นอัศจรรย์ชั้น 2 ไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์ทั้งหมดได้ และอยู่ไกลมาก รวมถึงไม่สามารถเห็นการนับคะแนน อาจจำเป็นต้องใช้กล้องส่องทางไกลหรือโทรศัพท์มือถือซูม จึงขาดรายละเอียดในการสังเกตการณ์ที่จะตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือก สว. นอกจากนี้ยังไม่เห็นการติดประกาศรายงานผลคะแนน ทั้งในรอบ “เลือกกันเอง” และ “เลือกไขว้” อีกด้วย

16.10 น. มีจับสลากเพื่อแบ่งสาย ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนไปจับสลากแบ่งสาย เป็นสาย ก ข ค และ ง และลงคะแนนกันต่อรอบสองเวลา 20.00 น.และมีการนับคะแนนเกิดขึ้น หลังปิดลงคะแนน โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เป็น สว. ตัวจริง ส่วนผู้ที่ได้คะแนนในลำดับที่ 11-15 ของกลุ่มนั้น ๆ จะอยู่ในบัญชีสำรอง โดยการเลือก สว. จบลงในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย.

ส่วนรายชื่อของผู้สมัคร สว.ที่ตกรอบสุดท้าย คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จากเดิมเป็นที่จับตามองว่าเขาคือแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สุดท้ายก็ได้รับคะแนนเพียง 10 คะแนน ตกรอบและไม่ผ่านแม้กระทั่งเป็นบัญชีสำรอง ทั้งนี้นายสมชายได้เดินทางออกจากสถานที่เลือกในช่วงชุลมุน ทำให้สื่อมวลชนที่ปักหลักรอทำข่าว ไม่ได้สัมภาษณ์ความรู้สึกแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ก็ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย หนึ่งในผู้สมัครจากกลุ่มสื่อสารมวลชนฯ ให้ความเห็นว่า มันมีการฮุบโหวตจากบ้านใหญ่ แน่นอน

ด้วยสภาพอิดโรยของผู้สมัครหลักจากการคัดเลือกอันเข้มข้นนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการคัดเลือก สว 200 คน กับรายชื่อสำรอง 100 คนเท่านั้น ยังคงต้องรอประกาศทางการของ กกต.อีกครั้ง ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567



คุณอาจสนใจ

Related News