เลือกตั้งและการเมือง

‘เพื่อไทย’ ร่อนแถลงการณ์ แสดงจุดยืน 10 ปี รัฐประหาร ชี้ ศาลต้องไม่ยอมรับคนยึดอำนาจ

โดย JitrarutP

21 พ.ค. 2567

79 views

“เพื่อไทย” ร่อนแถลงการณ์ แสดงจุดยืน 10 ปี รัฐประหาร ชี้ ศาลต้องไม่ยอมรับคนยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เร่งแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ่วงกฎหมายต่อต้านรัฐประหารให้เสร็จภายในรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ตอบ สว.ยื่นถอดถอน “เศรษฐา-พิชิต” ผลพวงรัฐประหาร ขออย่าคิดไปไกล ถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ

นายนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายดนุพร ปุณณกันต์  โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร โดย คสช. ในวันพรุ่งนี้ 22 พฤษภาคม 2557 นายดนุพร ได้อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ว่า 10 ปีที่ผ่านไป จากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “ยุติวงจรรัฐประหาร ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อำนาจอธิปไตยของคนไทยดับสิ้นลง จากคณะรัฐประหารที่ชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลที่มาจากความไว้วางใจของพี่น้องประชาชน

การกระทำการรัฐประหาร คือ การกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายประชาธิปไตย ผลักประเทศให้เดินถอยหลังไปสู่ความถดถอยภายใต้อำนาจเผด็จการ สิ่งที่เราสูญเสียไปคือ ‘โอกาสของประเทศ’ ทั้งที่สามารถประเมินมูลค่าได้ และอีกนานัปการที่ประเมินมูลค่าไม่ได้



พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เราปฏิเสธการรัฐประหาร ไม่ยอมรับสารตั้งต้นที่อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร และปฏิเสธการนิรโทษกรรมต่อการรัฐประหารในทุกกรณี ศาลและองค์กรรัฐอื่นๆ ต้องยกเลิกบรรทัดฐานที่ว่า การรัฐประหารโดยใช้กำลังอาวุธสำเร็จ เป็นรัฏฐาธิปัตย์

เรายืนยันแนวคิดให้มีการตรากฎหมายต่อต้านการรัฐประหารขึ้น โดยห้ามมิให้ศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยืนยันในแนวคิดว่า ความผิดในการรัฐประหารไม่มีอายุความ โดยให้ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า การรัฐประหารคืออาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย เรายึดมั่นในหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เราจะร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร การรัฐประหารจะต้องหมดไปจากประเทศไทย



การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ผ่านมา จะมีข้ออ้างเสมอมาว่ารัฐบาลประชาธิปไตยบริหารประเทศล้มเหลว อ้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การยึดอำนาจโดยใช้กำลังอาวุธ แต่ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่การรัฐประหาร นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มีแต่นำไปสู่ความตกต่ำ ถดถอย และล้าหลัง ดังที่เห็นกันอยู่ตลอดมา

พรรคเพื่อไทยในฐานะสถาบันการเมือง ในฐานะแกนนำรัฐบาลของพี่น้องประชาชน เราจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างดีที่สุด เราจะร่วมมือกันกับคนไทยผู้รักประชาธิปไตย ไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก



จากนั้น นายชูศักดิ์ ย้ำจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ว่าเราต่อต้านการรัฐประหาร จึงอยากสื่อสารกับประชาชน ถึงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 รัฐบาลไทยรักไทย มาจนปี 2557 ในรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งหลังรัฐประหารทุกครั้งประชาชนและสังคมไทย ไม่เคยได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่ครั้งเดียว เราได้แต่รัฐธรรมนูญที่ถดถอย เป็นเผด็จการ ตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าเมื่อมีการยึดอำนาจปกครองประเทศ ก็มักตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับใหม่ ดังนั้นจุดยืนของพรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นของประชาชน และมีจุดยืนสำคัญมีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

และขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งต่อไปนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปในขั้นตอน 1. จะต้องสอบถามประชาชน ว่าสมควรให้มีการจัดทำ รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่หรือไม่ 2. จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. และเมื่อมีตัวแทนประชาชน และ ส.ส.ร. ยกร่าง ขึ้นมา จึงมาถามประชาชนว่า เห็นชอบกับร่างที่ยกขึ้นมาหรือไม่ จึงจะเป็นกระบวนการในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หวังว่าจะมีบทบัญญัติต่อต้านรัฐประหารอยู่ในนั้น และคิดว่าจะต้องสำเร็จภายในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยใน 4 ปีนี้ เพื่อเป็นของเป็นของขวัญให้กับประชาชน

ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการรัฐประหาร สาระสำคัญ คือ การที่เรายอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และเปิดโอกาสให้เขาบริหารประเทศ เป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้นกระบวนการของประชาชนในการต่อต้านเป็นสิ่งสำคัญ จึงพยายามจะยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้เรียบร้อย เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ต่อไป ดังนั้นในโอกาสครบรอบเช่นนี้ เพื่อไทย คาดหวังว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชน และเป็นประชาธิปไตย และต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงมีกระบวนการจัดทำกฎหมาย ที่เป็นการจัดทำกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกระบวนการต่อต้านการรัฐประหาร เพื่อให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ นายชูศักดิ์ ระบุว่า เป็นข้อตกลงว่าก่อนจะทำ ประชามติครั้งแรก จะต้องแก้พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน ซึ่งตกลงกันว่าจะแก้ในขณะที่เปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เร็วๆ นี้ เลย เพื่อให้รวดเร็ว ขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาพ.ร.บ.งบ 68 ก็จะต่อด้วยการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะประเด็นเสียงข้างมากสองชั้น ทราบว่ามีร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคก้าวไกล อยู่ในสภาฯแล้ว ร่างของรัฐบาล มีการตกลงแล้ว อยู่ในกระบวนการทางธุรการ เข้าใจว่าเมื่อเปิดสมัยวิสามัญแล้ว ร่างของรัฐบาล จะนำเข้าด้วย เพื่อพิจารณา 3 ร่าง พร้อมกัน เร่งรัดทำให้กฎหมายเสร็จสิ้นเร็วขึ้น



ส่วนมองว่า การที่ สว.เข้าชื่อ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐ ปมแต่งตั้งโดยขาดคุณสมบัติ เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร หรือไม่ว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของศาล เราไม่ได้มีความเห็นอะไร ส่วนระบบการเลือก สว. ที่ถูกมองว่า จะได้ สว. กล่องสุ่ม มาทำงานร่วมกับรัฐบาล รู้สึกอย่างไร นั้นว่า เขาก็กำลังรับสมัครกันอยู่ ไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไร แต่ที่พอสรุปได้ คือสูตรนี้ไม่มีที่ใดในโลก ที่คิดขึ้นมา ตอนนี้ ก็อลวนกันอยู่ ก็รอให้เขาทำก่อน แต่เรื่องสว. เป็นเรื่องที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ส.ส.ร. ต้องนำไปคิดว่า สว. ควรมีหรือไม่ ถ้ามีควรจะมีที่มาอย่างไร ก็ต้องรอดูผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนกรณี สว. 40 คน เข้าชื่อถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา จนนายกฯ อาจหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายชูศักดิ์ ชี้แจงว่า ยังไม่มีความเห็นอะไร เพราะเป็นกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จะเตรียมแผนอย่างไร หากนายเศรษฐาเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จะมีการเสนอชื่อนายกฯคนอื่นหรือไม่ นายชูศักดิ์ “หัวเราะ” แล้วบอกว่า “คิดไปไกลแล้วครับ เรายังไม่ได้คิดอะไรเลย เป็นกระบวนการของศาล”

นอกจากนี้นายชูศักดิ์ ยังชี้แจงกรณี กมธ.นิรโทษกรรม ส่งหนังสือด่วน ตั้ง 4 คำถามถึงนายกฯ เรียกร้องเร่งรัดแก้ปัญหาคดีการเมือง หลังกลุ่มเพื่อน “บุ้ง“ เรียกร้องความเป็นธรรม ว่า

เป็นมติ กมธ. ตามที่เห็นสมควรเพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กมธ. จึงทำหนังสือไปถึงนายกฯ โดยใช้ว่า “เห็นสมควร” จึงไม่ได้กำหนดเวลาไว้

คุณอาจสนใจ

Related News