เลือกตั้งและการเมือง

‘จุรินทร์’ คืนฟอร์มฝ่ายค้าน ซัดงบ 67 เป็นฉบับเป็ดง่อย โยงถามรัฐบาลปล่อยนักโทษติดคุกทิพย์

โดย nicharee_m

3 ม.ค. 2567

53 views

ปชป.คืนฟอร์มฝ่ายค้านมืออาชีพ ‘จุรินทร์’ ซัดงบ 67 เป็นฉบับเป็ดง่อย ว่าแต่เขาอิเหนาทำหมด ชี้เสียเวลาตั้งรัฐบาลเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ทำงบล่าช้า ขณะประท้วงวุ่น หลังแตะงบกรมราชทัณฑ์ ออกระเบียบศรีธนญชัย โยงถามรัฐบาลปล่อยนักโทษเข้าคุกทิพย์

3 ม.ค.2567 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อเนื่องเป็นคนที่ 2 ในฐานะฝ่ายค้านว่า แม้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่งบประมาณปี 67 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา แต่เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องระดม สส.พรรคร่วมรัฐบาลมาลงคะแนนให้ครบจนได้ และเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบวาระแรก เพราะรัฐบาลชุดนี้มีเสียงข้างมากโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึง 314 เสียง ถ้าหากไม่ผ่าน นายกฯ ก็คงต้องเลิกใส่ถุงเท้าได้แล้ว

ทั้งนี้ ที่นายกฯ แถลงเมื่อเช้าทุกอย่างดีหมด แต่ตนขออภิปรายเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และแสดงความคิดเห็น

แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ขออภิปรายในภาพรวม โดยงบประมาณนี้เป็นงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ เกิดจากการนำงบ ปี 67 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มารื้อทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้ปฏิทินงบช้าไปกว่า 9 เดือน

มัวแต่ตั้งรัฐบาลแบบเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ส่งผลให้งบประมาณล่าช้าเหมือนงบประมาณ “เป็ดง่อย” มีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือนจาก 12 เดือนหรือใช้เงินแค่ 40% ประสิทธิภาพในการใช้เงินลดลง โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

การที่นายกรัฐมนตรี พยายามตีปี๊บว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และพยายามเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้างบประมาณแผ่นดินกลายเป็นเป็ดง่อยจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร ทั้งนี้ หลังนายกฯ ให้กลับไปทบทวนงบประมาณ 67 มองว่าไม่มีอะไรใหม่ หลายเรื่องแย่กว่าเดิม

โดยประเด็นที่ 1 ขาดดุลเหมือนเดิม และจะขาดดุลต่อไปตลอดอายุรัฐบาล 4 ปีเต็ม ตนไม่ได้มโนไปเองแต่เพราะอยู่ในแผนการคลังของรัฐบาลชุดนี้ที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ในว่าจะทำงบประมาณขาดดุลไว้จนจบรัฐบาล

ประการที่ 2 งบประมาณของรัฐบาลชุดนี้เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนลงทุนการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าเดิม จาก 21.7% เหลือ 20.6% และพบว่าเม็ดเงินปี 67 ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 295,000 ล้านบาทไปเพิ่มในส่วนของงบประจำ แล้วจะไปสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร

ประเด็นที่ 3 งบกลางดูผิวเผินเหมือนลดลง แต่เป็นงบลวงตาเพราะงบกลาง ภาพรวมในปี 66 มี 18.5% แต่งบ 67 ลดเหลือ 17% เมื่อดูใส้ใน งบประมาณสำคัญ คือเงินสำรองจ่ายที่อยู่ในอำนาจของนายก กลับเพิ่มขึ้น ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาทำหมด” ดังนั้น ขอให้นายกฯ ใช้เงินนี้ให้คุ้มค่า โปร่งใส

ประเด็นที่ 4 งบประมาณฉบับนี้กลายเป็นเรื่องคิดใหญ่ทำเป็น แล้วกลับเป็น “คิดกู้ทำกู้” เพราะงบประมาณปี 67 ของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา กู้ 5.93 แสนล้านบาท และรัฐบาลนี้ เอาไปรื้อ กู้ใหม่ 6.93 แสนล้านบาท พร้อมตอกกลับว่า พวกท่านเคยวิจารณ์ว่าเป็นนักกู้ มาครั้งนี้เป็นนักกู้ถุงเท้าสีชมพูที่กู้เพิ่มกว่าแสนล้านบาท

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะไม่กู้เงินมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลับลำแบบ 360 องศา ที่กู้เงินมาแจกตอบสนองนโยบายหาเสียง ดังนั้น นี่คือเสียงที่คนทั้งประเทศเป็นห่วง รัฐบาลกลัวว่า ถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติกลัวว่าผิดกฎหมาย จึงไปถามกฤษฎีกาแต่ยังไม่ตอบกลับมา ทั้งนี้ หากกฤษฎีกาบอกว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมายหรือสุ่มเสี่ยง ขออย่าไปโยนบาปให้กฤษฎีกา เพราะกฤษฎีกาไม่ใช่เจ้าของนโยบายหาเสียง

ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ฟันธงว่านายกรัฐมนตรี ไม่สามารถใช้หนี้เงินกู้ 500,000 ล้านบาทในโครงการเงินดิจิตอลได้ ภายใน 4 ปี แต่เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีอยู่ครบวาระใช้หนี้ 4 ปี ให้หมด จะได้ไม่มีคำครหาว่ามีนายกฯ 2 คน

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรทำเรื่องการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน จะแยกส่วนทันทีไม่ได้ และเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะหมวด 1 หมวด2 และขอสนับสนุนที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะทันทีที่เข้าคณะรัฐมนตรีกับกลายเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาแทน จากเร่งด่วน กลายเป็น 4 ปี จากหนังสั้นเป็นหนังยาว ทั้งนี้ การทำประชามติต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้ง แล้วงบอยู่ตรงไหน ตั้งไว้เท่าไหร่ หาไม่เจอ จึงขอให้สะท้อนความจริงใจตรงนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ยังอภิปรายถึงงบประมาณของ กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะงบที่นำยกระดับควบคุมดูแลผู้ต้องขัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ โดยสถานที่คือ ราชทัณฑ์และทัณฑสถาน ที่มีผู้ต้องขังกว่า 280,000 คน

ตนจึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ใช้งบประมาณ ปี 2566 และ และจัดทำงบในปี 2567 ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสหรือไม่ เลือกปฏิบัติกับผู้ต้องขังกว่า 280,000 คนหรือไม่ เพราะมีข้อเคลือบแคลเกิดขึ้นในสังคม ว่าทำไมรัฐบาล ปล่อยให้นักโทษบางคน เข้าคุกทิพย์มาแล้ว กว่า 120 วัน แต่ยังไม่เคยติดคุกแม้แต่วันเดียว

ทำให้ นายครูมานิตข์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงทันที ไม่คิดว่า นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี จะอภิปรายเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่ ก็ล้มเหลวมาตลอด และเป็นเรื่องอีกทั้งยังเป็นเรื่องนอกประเด็น เป็นสไตล์เก่าๆ เหมือนเดิม ซึ่งตนไม่เห็นด้วย และรู้ว่ากำลังจะพูดถึงคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่โดนกลั่นแกล้งไปอยู่เมืองนอกมา 17 ปีแล้วกลับเข้ามา ซึ่งในการที่ไปอยู่นอกเรือนจำ ก็มีใบอนุญาตจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ชัดเจน จึงขอให้ประธานการประชุมสั่งให้นายจุรินทร์ถอนคำพูดด้วย

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานการประชุม วินิจฉัยว่า นายจุรินทร์ยังอภิปรายอยู่ในประเด็น ซึ่งในครูมานิตข์ ก็ยังยืนยันว่า นายจุรินทร์อภิปรายถึงบุคคลที่อยู่นอกสภา

จากนั้น นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงนายครูมานิตว่า ว่าประท้วงส่อเสียดนายจุลิน ไม่คิดว่าสภาอันทรงเกียรติจะมีคำพูดจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติแบบนี้ ซึ่งส่วนตัวเคารพครูมานิต จึงอยากให้ถอนคำพูด จนท้ายที่สุดประธานก็สั่งให้ครูมานิตถอนคำพูดทำให้บรรยากาศการประชุมดำเนินต่อ

โดยนายจุรินทร์ ได้อภิปรายต่อว่า ตนไม่ประสงค์จะเอ่ยชื่อบุคคลใด ขอให้ประธานสบายใจได้ เพราะเคารพกติกาเสมอ คำถามของตนก็คือ ทำไมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบบริหารโครงการ 3.8 หมื่นล้านบาท ไม่ทำข้อเคลือบแคลงสงสัยให้กระจ่าง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จนวันนี้กลายเป็นตนเห็นท่านสั่งการได้ทุกเรื่อง จนวันนี้กลายเป็นหลงจู๊ประเทศ แต่พอเรื่องคาใจทำไมไม่สั่ง หรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพื่อไขข้อสงสัยให้กับคนทั้งประเทศ

ซึ่งการใช้งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ที่ออกระเบียบ ว่าด้วยการดำเนินการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง 2566 อ้างทำตามคำแนะนำ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการใช้งบสอบไปในทางไม่ชอบหรือไม่

ทั้งนี้การออกระเบียบดังกล่าว เป็นระเบียบแบบศรีธนญชัย เพราะแทนที่จะแยกผู้ต้องขังออกจากนักโทษเด็ดขาด กลับกลายเป็นว่าไปแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดออกเป็นสองมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่ 1 ติดคุกที่เรือนจำ และมาตรฐานที่ 2 ติดคุกที่บ้านได้ ใช้เพียงอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่อำนาจศาล จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เลือกปฏิบัติและคำพิพากษาของศาลไร้ความหมาย ศาลยุติธรรมพิพากษาจำคุก แต่กรมราชทัณฑ์สั่งให้นักโทษบางคนไปติดคุกที่บ้าน กลายเป็นนักโทษเทวดา

คุณอาจสนใจ

Related News