เลือกตั้งและการเมือง
‘จุติ’ โยนรัฐบาลใหม่เคาะหลักเกณฑ์ ‘เบี้ยคนชรา’ ลั่นโครงสร้างภาษีไทย ไม่ได้ออกแบบเป็นรัฐสวัสดิการ
โดย nicharee_m
15 ส.ค. 2566
51 views
‘จุติ’ ขอผู้สูงอายุสบายใจได้ ‘เบี้ยคนชรา’ ยังเหมือนเดิม ไม่สะดุด 100% โยนรัฐบาลใหม่เคาะหลักเกณฑ์ ลั่นโครงสร้างภาษีไทย ไม่ได้ออกแบบเป็นรัฐสวัสดิการ
วันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุนั้น มองว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ได้โยนมายัง พม. ซึ่งเขาทำตามระเบียบตามกฎหมาย เพราะทุกคนไม่อยากทำผิดกฏหมาย รัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตาม และต้องคอย คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดเกณฑ์
พร้อมชี้แจงรายละเอียดความชัดเจนขณะนี้ 1.ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมทุกประการ 100% ไม่มีใครตกหล่น 2. ต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 3. เป็นแนวทางเลือก ตามมารยาทแล้วอยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าให้ทำอย่างไร 4.ความกังวลว่าเวลาให้ต้องคำนึงถึงกลุ่มอื่นๆของสังคมด้วย ซึ่งมีเด็ก 21 ล้านคน คนพิการ 3 ล้านคน ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน
นายจุติ ยังระบุว่า ผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ์ 11 ล้านคน รับอยู่ 89,000 ล้านบาท มีคนที่จนจริงๆเพียง 4 ล้านคน ต้องถามว่าคนที่เป็นรัฐบาลมีงบประมานที่จำกัด จะเอาเงินไปช่วยคนที่จนที่สุดของประเทศก่อนหรือไม่เท่านั้นเอง ซึ่งหากรัฐบาลใหม่มาบอกว่าพร้อมที่จะให้เงินเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องไปเก็บภาษีมาให้ได้ ปีละ 720,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันนี้กระทรวง พม. ทั้งกระทรวงได้รับงบประมาณอยู่ 8,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นคุณต้องไปหางบประมาณมาอีก 9 เท่า
นายจุติ ยังยืนยันว่าไม่ได้วางกรอบหรือเงื่อนไขระยะเวลา ให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเคราะห์หลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นคนเลือกว่าจะให้อย่างไร พร้อมย้ำว่า ตอนนี้ยังจ่ายเงินปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร 100% รับเหมือนเดิมทุกประการไม่มีใครตกหล่นแม้แต่คนเดียง เพราะมีบทเฉพาะกาลอยู่
ส่วนคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ฯ ได้ช่วงไหนนั้น นายจุติ กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะตัดสินและส่งให้รัฐบาลใหม่
ส่วนจะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไร เพราะ หลายคนกังวล จะถูกตัดเบี้ยผู้สูงอายุ นายจุติ ย้ำว่า “วันนี้ 100% ว่าผู้สูงอายุยังได้รับเบี้ยยังชีพ เหมือนเดิมไม่สะดุด งบประมาณก็จะเอาไว้แล้ว งบปี 66 จะจบเดือน ก.ย.นี้ และงบปี 67 เพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาท้วงติง อย่าง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นการลักไก่ ช่วงรัฐบาลรักษาการ นั้น นายจุติ กล่าวว่า “วาทกรรมก็พูดได้ แต่ว่าเราอยู่ที่สามัญสำนึก จิตสำนึก และทำให้คนส่วนใหญ่เถอะ ผมไม่ทะเลาะการเมือง อยากฝากทุกคนใครจะทำอะไรก็ได้ ความสะใจ ไม่ได้ให้อะไรใครซักคนเดียว ซึ่งการเลือกตั้งจบไปแล้วตั้งสองเดือนให้คนไทยรักกันดีกว่า ขอร้อง”
เมื่อถามว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตอนหาเสียงมีนโยบายจะเพิ่มเงินผู้สูงอายุ แต่พอเลือกตั้งเสร็จจะมาลดเบี้ย นายจุติ ชี้แจงว่า เพราะได้ข้อมูลผิดไงครับ ก่อนจะย้ำว่า ทุกคนที่ได้รับก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม
เมื่อถามถึงการกำหนดการปรับหลักเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อยจะวัดอย่างไร นายจุติ กล่าวว่า ต้องไปดูที่รัฐธรรมนูญปี 60 ระบุว่า ผู้ที่ไม่มีรายได้เพียงพอนั่นแหละจะตัดที่เท่าไหร่ จะตัดที่ตัวเลขหรือเส้นแบ่งความยากจน แต่สิ่งที่นักการเมืองทุกคนไม่เคยพูดให้ประชาชนรับทราบ ว่า
“ประเทศที่เขาเจริญแล้วที่เราทำตามเขา เขามีการพิสูจน์สิทธิ์ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐฯ คือมีการวัดว่าคุณลำบากจริง รายได้ไม่พอจริง ก็ควรจะไปช่วยเหลือ โอเคนะวันนี้เราบอกว่าเราให้ถ้วนหน้าก็โอเคครับ ถ้ามีสตางค์ วันนี้คุณยังเห็นเด็กที่ยังไม่มีเงินได้เรียนหนังสือ กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษายังอยากมีงบประมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะให้กระจายทุกกลุ่ม หรือไม่ หรือจะให้เฉพาะกลุ่ม คนเป็นรัฐบาลก็ต้องมองให้ถ้วน ผมว่าขอให้คิดถึงความเป็นมนุษย์อย่าไปคิดถึงคะแนนเสียง”
นายจุติ ยังระบุว่า เดิมทีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ว่าไม่ควรรับเงินซ้อนจากรัฐ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว และอันใหม่ระบุว่าให้คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปดูว่าตรงนั้นคืออะไร ไม่มีอะไรยาก ทำใจให้สบาย รักทุกคน และด้วยมารยาทตน คงไม่ไปเรียกคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มาประชุม เพราะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรี พม. คนใหม่
“ด้วยความเคารพทุกท่าน อยากให้แยกให้ออกว่านโยบายพรรคการเมือง กับนโยบายของรัฐบาล และโครงสร้างของประเทศ โครงสร้างการคลัง ประเทศไทยไม่ได้เผื่อไว้ หรือออกแบบมาเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนั้นหากจะต้องเปลี่ยนระบบเป็นระบบรัฐสวัสดิการ ต้องมีคนรับผิดชอบเยอะ วันนี้มีผู้ยื่นเสียภาษี 11 ล้านคน เสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านคน
ดังนั้นต้องขยายฐานภาษี และภาษีมูลค่าเพิ่มของต่างประเทศเขาอยู่ที่ 22% ของไทยเราอยู่ที่ 7% ภาษีภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเขาอยู่ที่ 39 % เราอยู่ที่ 20% 22 ส่วนภาษีท้องที่เขาอยู่ที่12% เราอยู่ที่0.5 กับ 1 % เพราะฉะนั้นเราต้องมาถามว่าคนไทยพร้อมหรือยัง คุยกันทั้งประเทศ นักการเมืองพรรคการเมืองก็ต้องฟัง ทั่วทุกกลุ่ม” นายจุติ ระบุ
เมื่อถามว่าให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ นายจุติ พยักหน้ารับ พร้อมระบุว่าด้วยความรับผิดชอบ ส่วนอยากจะฝากอะไรไปถึงรัฐมนตรี พม. คนใหม่หรือไม่นั้น ขอให้คิดถึงทุกกลุ่ม รักทุกคน เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขดีกว่า
เมื่อถามว่าไม่กลับมากระทรวงเดิมแล้วใช่หรือไม่ นายจุติ ระบุว่าไม่มีใครทราบ เดี๋ยวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่แล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง จุติ ไกรฤกษ์ ,เบี้ยคนชรา ,เบี้ยผู้สูงอายุ ,รัฐบาลใหม่ ,พม.