เลือกตั้งและการเมือง

เมื่อ 'การเมือง' เป็นเรื่องใกล้ตัว รู้จัก Political Stress Syndrome เสพข่าวอย่างไรให้รู้ทันความเครียด

โดย panisa_p

20 ก.ค. 2566

65 views

กระแสการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ นับว่าเป็นที่จับตาของประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก และกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของปถุชนขนาดที่ว่า ‘แยกออกไม่ได้’ โดยหากเปรียบเทียบสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็เรียกได้ว่า ‘มีความตึงเครียดสูง’


อีกทั้ง มีประเด็นเดือดผุดขึ้นมาให้สังคมถกกันอยู่ตลอด จึงไม่แปลก หากคนบางกลุ่มจะต้องเผชิญอาการ ‘Political Stress Syndrome (PSS)’ หรือ กลุ่มอาการความเครียดจากการเสพข่าวการเมือง ที่เสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใช้สื่อโซเชียล


ซึ่งวันนี้ (20 ก.ค. 66) ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ก็ได้แสดงความเป็นห่วง พร้อมกับให้สัมภาษณ์แนะนำ แนวทางการติดตามข่าวการเมืองอย่างไรให้รู้ทันความเครียด


นายแพทย์วรตม์ แสดงความคิดเห็นว่า “จริงๆ เรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวนะครับ” และก็เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเมื่อวาน (19 ก.ค. 66) แต่เกิดขึ้นก่อนช่วงเลือกตั้ง มาจนถึงช่วงปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าการเมืองมีความเข้มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ


แน่นอน เมื่อเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องชีวิต และอนาคต ผู้คนก็จะรู้สึก ‘อิน’ การที่อินหลายครั้ง นอกจากเราเสพในเนื้อหาข่าวแล้ว บางครั้งเราใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะมีเรื่องอารมณ์ของคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น


การที่รับอารมณ์มา จึงไม่ใช่แค่อารมณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ของผู้คนมากมายเข้ามาสู่ตัวเรา ทั้งความโกรธ ความเสียใจ ความผิดหวัง ก็จะมีอยู่แล้ว ตรงนี้ถ้าเรามีอารมณ์ร่วมด้วยมาก ความเครียดก็จะตามมา ถ้าเราไม่สามารถจัดการให้มันออกไปจากตัวเราได้ ความเครียดก็จะสะสมมากขึ้น


โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แบบนี้ บางคนอาจจะไม่รู้ว่าควรไประบายกับใคร บางครอบครัวอาจจะมีความเห็นทางการเมืองที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเหตุนี้ นายแพทย์วรตม์กล่าวว่า “ความแตกต่างทางการเมืองมีได้ครับ” เราสามารถระบายได้ ให้ที่บ้านเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยกันได้…


การแสดงความคิดเห็นที่เป็นเรื่องใกล้ตัว หรือการที่มีอารมณ์ร่วมด้วย ถือว่าเป็นนั้นเรื่องปกติ แต่อารมณ์ร่วมที่มีระดับสูงมากเกินไป จนทำร้ายตัวเราเอง หรือทำร้ายคนอื่น ตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการ เพราะสุดท้ายจะไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองเลย


และถ้าเรามีความเครียดมากเกินไปก็จะไปกระทบกับชีวิตประจำวัน นายแพทย์วรตม์จึงมองว่า เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเรามีสติมากเราย่อมสามารถมีอารมณ์ร่วมได้ เพราะเราจะไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ จนไม่สามารถทำสิ่งอื่น


ส่วนอาการ Political Stress Syndrome (PSS) หรือ กลุ่มอาการความเครียดจากการเสพข่าวการเมือง นายแพทย์วรตม์ระบุ เป็นกลุ่มอาการที่คนพูดถึงกันเยอะมากขึ้น เพราะว่าในต่างประเทศเองก็มีการเมืองการปกครองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และก็มีคนที่เครียดกับเรื่องนั้น


“ลิมิตแต่ละคนไม่เท่ากันนะครับ บางคนอาจจะรับข่าวทางการเมืองได้มาก บางคนอาจจะรับข่าวทางการเมืองได้น้อย เด็กและวัยรุ่นหลายคนนะครับ อาจจะมีอารมณ์ร่วมเยอะมากนะครับ ถ้าเกิดใครที่เป็นวัยรุ่นเหมือนกันพยายามพูดคุยกับเพื่อนหน่อยว่า เห้ยเรา เราสามารถขับเคลื่อนประเทศนี้ได้ โดยที่เราก็ต้องควบคุมตัวเองได้พอสมควร จะได้ไม่รู้สึกเจ็บใจ ไม่รู้สึกผิดหวัง หรือรู้สึกท้อแท้ จนไม่อยากมีส่วนร่วมกับเรื่องการเมืองของประเทศไทย”


พร้อมให้ความเห็นว่า ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี โดยผู้ใหญ่หลายครอบครัวอาจมีอารมณ์หงุดหงิดกระฟัดกระเฟียดมากกับเรื่องการเมือง หรือเมื่อได้ตามที่ตัวเองต้องการ ก็หัวเราะเยาะกับคนที่มีความเห็นต่างกับตัวเอง


“กลายเป็นว่า เรื่องของความคิดเห็นที่มีความแตกต่างทางการเมือง กลายเป็นเป็นเรื่องที่พูดคุยกันไม่ได้ เราไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนั้นในประเทศไทย” โฆษกกรมสุขภาพจิตทิ้งท้าย…

คุณอาจสนใจ

Related News