เลือกตั้งและการเมือง

37 ปี 11 พรรค เส้นทางการเมือง ‘สุชาติ ตันเจริญ’ ตัวเต็งแคนดิเดต ‘ประธานสภา’

โดย JitrarutP

28 มิ.ย. 2566

229 views

ท่ามกลางประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงในการเลือกตำแหน่ง “ประธานสภา” ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยพรรคก้าวไกลได้เปิดเผยแคนดิเดตประธานสภา คือ “หมออ๋อง - ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ลงชิงเก้าอี้

ขณะที่เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 66) พรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยยึดหลัก 14 รัฐมนตรี + 1 ประธานสภา โดยหลายฝ่ายจับจ้องไปที่ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าจะเป็นแคนดิเดตประธานสภาของพรรคเพื่อไทย หรือไม่ เนื่องจากเมื่อ 4 ปี ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาในนามพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับประวัติ นายสุชาติ ตันเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ปัจจุบัน อายุ 65 ปี จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก San Jose State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจจาก Notre Dame de Namur University ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นบุตรชายของนายวิเชียร และนางสุภา ตันเจริญ เป็นน้องชายของ นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีบุตรชาย 2 คน คือ นายคชาภา ตันเจริญ หรือ “มดดำ” พิธีกรชื่อดัง และนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ (มดเล็ก) ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 3 พรรคเพื่อไทย นายสุชาติ เคยได้รับฉายาทางการเมืองว่า “ตี๋กร่าง” ต่อมาถูกเปลี่ยนฉายาว่า “พ่อมดดำ” และเป็นหัวหน้ากลุ่ม “บ้านริมน้ำ”

โดยช่วงต้นของชีวิตทางการเมือง นายสุชาติ ได้สร้างชื่อจากการเป็น ส.ส.กลุ่ม 16 มีสมาชิกเป็นนักการเมืองชื่อดังอาทิ นายเนวิน ชิดชอบ, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายสนธยา คุณปลื้ม และนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เป็นต้น ผลงานของกลุ่ม 16 ที่เด่นชัดที่สุดคือการอภิปรายที่ดิน สปก. 4 - 01 ซึ่งเป็นต้นเหตุให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องยุบสภา

นายสุชาติ เข้าสู่เส้นทางการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบัน (2566) รวม 37 ปี จากทั้งหมด 11 พรรค



•    พรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2529 - 2531

•    พรรคชาติไทย พ.ศ.2531 - 2535, พ.ศ.2538 - 2539

•    พรรคสามัคคีธรรม พ.ศ.2535

•    พรรคชาติพัฒนา พ.ศ.2535 - 2538

•    พรรคไท พ.ศ. 2539 - 2543

•    พรรคความหวังใหม่ พ.ศ. 2543 - 2545

•    พรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2545 - 2550

•    พรรคเพื่อแผ่นดิน พ.ศ.2550 - 2553

•    พรรคภูมิใจไทย พ.ศ.2553 - 2561

•    พรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 - 2566

•    พรรคเพื่อไทย พ.ศ.2566 - ปัจจุบัน


คุณอาจสนใจ

Related News