เลือกตั้งและการเมือง

‘เพื่อไทย’ ชี้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งกทม. พิลึก จากส.ส.เขต จะเป็นส.ส.แขวง

โดย attayuth_b

14 มี.ค. 2566

87 views

วันนี้ (14 มี.ค.) พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวิชาญ มีนชัยอนันต์ ประธานภาค กทม. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.กทม. เขตลาดกระบัง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. เขตคลองสามวา แถลงข่าวเสนอความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่อาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

โดยน.ส.ธีรรัตน์ ระบุว่า ในฐานะตัวแทน ส.ส.กทม. ที่หลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตที่ กกต. อาจจะเลือกใช้ โดยเห็นว่าหลักของการเป็นแบ่งเขต ควรรวมเขตขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน ไม่ใช่การรวมแขวง เพราะจะทำให้ ส.ส.เขต กลายเป็น ส.ส.แขวง ไปอีก จะทำให้เกิดความสับสนทั้งสำหรับ ส.ส.ที่จะต้องดูแลพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่หาก กกต. แบ่งแขวงหนึ่งไปรวมกับอีกเขตการปกครอง ที่ไม่ได้มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน และประชาชนเองก็ไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งได้ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เกิดความไม่คุ้นเคยกับประชาชนจากแขวงอื่นที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

"การแบ่งเขตควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ดูแล้วการแบ่งเขตของ กกต. เองดูจะเข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลักหรือไม่ อันนี้ท่านจะกลับหลังทัน คิดถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากกว่าจะคิดถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง" น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

ขณะที่นายวิชาญ ให้รายละเอียดการแบ่งเขตของ กกต. 4 แบบ ว่า กทม. 33 เขต เป็นที่จับจ้อง เนื่องจากเป็นชิ้นเค้กชิ้นหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองอยากได้ เพราะเป็นเขตที่ติดต่อกัน และมีความหนาแน่นของคนเมือง พรรคเพื่อไทยเคยมีการแถลงข่าวและเตือนไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าการแบ่งเขตรอบแรกมีความผิดเพี้ยนและพรรคเพื่อไทยได้บอกให้คำนึงถึงกฎหมาย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 29 ที่ต้องยึดโยงเรื่องเขตปกครองเป็นหลัก หมายความว่าต้องเอาอำเภอเป็นหลัก หากไม่สามารถแบ่งได้ ค่อยไปแบ่งตามแขวง

นอกจากนี้ยังต้องยึดโยงตามการเดินทาง ให้ความสะดวกกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวันนี้ยังไม่ทราบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมาเป็นรูปแบบไหน

"สิ่งสำคัญ ต้องไม่ทำให้ประชาชนสับสน ครั้งที่แล้วเราเตือน กกต. ว่าการแบ่งเขตที่ส่งรูปแบบมา รูปแบบที่ไม่เหมาะสม คือ 6-7 แต่พอภาคประชาชนท้วงไป กกต.ก็เปลี่ยนมามี 4 รูปแบบ 4 รูปแบบที่ว่า 1 และ 2 เป็นแบบที่เราท้วงไป" นายวิชาญกล่าว

นายวิชาญ ตั้งข้อสังเกตว่า หากมองให้ลึก การประกาศต้องผ่านราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ รูปแบบ 1 และ 2 ขัดต่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 27 ที่ต้องรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กทม. ก็คือ เขต และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีการเอาเขตเป็นตัวตั้งมากกว่าเอาแขวงมาเป็นตัวตั้ง แต่รอบนี้ รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับกำหนดตำบลหรือแขวงมาเป็นตัวตั้ง ย้ำว่าจัดแบบนี้วุ่นวายไปหมด ข้าราชการเองก็งง จึงมาบอกทางประชาชนและบอกทางพรรคการเมืองให้ช่วยดู

"ได้อะไรได้ความสนุกหรือไม่ กกต.แบ่งเพื่อที่จะให้ 10% แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ความวุ่นวายการเสียจำนวนเงิน ประชาสัมพันธ์ เขายังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายหากมีใครมายืนร้อง หลังเลือกตั้งประกาศผลไม่ได้ เป็นโมฆะ กกต.รับผิดชอบหรือไม่ ประเทศเรามีนักร้องเยอะมาก กทม. ทะเลาะกันแน่นอน" นายวิชาญกล่าว

ด้านนายจิรายุ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการเสนอความเห็นเรื่องการแบ่งเขต เช่น เขตคลองสามวาของตนถูกผลักไปอยู่เขตหนองจอกจำนวน 2 แขวง จึงอาจเกิดกรณีบัตรเสียในเขตปกครองเดียวกัน ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยพร้อมลงสนาม เพราะเราถูกผูกรัดมัดตึงมาตลอด 15 ปี ให้ไม่ได้รับความสะดวกต่างๆ ทั้งเรื่องการแบ่งจังหวัดหรือแบ่งเขตในกรุงเทพฯ

นายจิรายุ ยังชี้ว่า มีเพียงเขตดอนเมือง ที่เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ไม่ถูกแบ่งแขวง เหมือนอีก 32 เขต เข้าใจได้ว่า แบ่งตามจำนวนประชากร แต่ก็เห็นว่า เขตอื่นก็ไม่มีเหตุผลให้แบ่งแยกแขวงออกไปจนต่างจากเดิมขนาดนี้ ซึ่งหากมีการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตออกมาแบบนั้นจริง ขอให้ กกต. เตรียมรับมือประชาสัมพันธ์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

"แต่ย้ำว่าเพื่อไทยพร้อม ไม่ว่าท่านจะมัดมือมัดขา ปิดหูปิดตา เอาโซ่ล่ามไว้ เราก็จะไปยืนในที่สว่างให้กับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ เลือกให้ครบทั้ง 33 เขต" นายจิรายุ กล่าว

เมื่อถามว่าวันนี้กกต. จะประชุมเรื่องรูปแบบ พรรคเพื่อไทย มีแนวทางอย่างไร น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเป็นอำนาจของกกต.ที่สามารถทำได้ สิ่งที่พรรคการเมืองหรือภาคประชาชนทำได้คือการส่งความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ หรือแบบการเลือกตั้งที่ประชาชนเห็นชอบและอยากให้เป็น ทั้งนี้ เรายังหวังว่ากกต.จะฟังความคิดเห็นเหล่านี้ หรือหากสุดท้ายแล้วกกต.ยังไม่เห็นความสำคัญของประชาชน หรือไม่ฟังคำแนะนำของประชาชน เราก็พร้อมที่จะลงรับเลือกตั้งในกฎกติกาที่กกต.กำหนด

เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว พรรคเพื่อไทยมีการคุยกับพรรคอื่นหรือไม่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า เรามีการพูดคุยกันหลายๆพรรคการเมืองที่มีแนวร่วมและแนวความคิดที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีการแสดงความเห็นที่คล้ายกันว่าแบบที่กกต.แบ่งมาเป็นแบบที่พิลึกพิลั่น และสร้างความเสียหาย รวมถึงสร้างความยากลำบากในการทำงานในอนาคตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จากการที่ติดตามข่าวสารบางพรรคการเมืองได้ออกมาแถลงข่าวในทำนองที่ขอให้กกต.ทบทวนในแบบการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

คุณอาจสนใจ

Related News