เลือกตั้งและการเมือง

“สมศักดิ์” ขอบคุณ ส.ว. ผ่านร่างกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำ ย้ำ ”ฉีดให้ฝ่อ” ไม่กระทบสิทธิ

โดย attayuth_b

12 ก.ค. 2565

38 views

วันนี้ (12 ก.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี สมาชิกวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ว่า ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาทุกคน โดยเฉพาะ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวันชัย สอนศิริ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ที่ได้ช่วยกันผลักดันกฎหมายป้องกันกระทำผิดซ้ำนี้ เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งจะนับเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่รัฐบาล ได้ขับเคลื่อนเพื่อทำให้สังคมรู้สึกถึงความปลอดภัยจากบุคคลอันตรายมากขึ้น เพราะกฎหมายฉบับนี้ ที่กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ส.ส. ได้เสนอ เพื่อยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในการช่วยทำให้ผู้หญิงปลอดภัยจากบุคคลอันตราย ช่วยป้องกันเหตุสะเทือนขวัญไม่ให้เกิดขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มี 4 มาตรการ คือ มาตรการแก้ไขฟื้นฟู มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการคุมขัง และมาตรการคุมขังฉุกเฉินหลังพ้นโทษ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังบุคคลอันตรายที่มีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่กระทำผิดโดย ฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูผู้กระทำผิด มากกว่าการลงโทษ อย่างมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 10 ปี ห้ามเข้าเขตกำหนด การติดกำไลอีเอ็ม รวมถึงมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยติดตาม หากผู้ถูกเฝ้าระวัง มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะถูกควบคุมตัวทันที เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรง ส่วนที่มีการปรับแก้เพิ่มเติม ผมมองว่า ไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์ แต่ผมอยากให้กฎหมายนี้เสร็จเร็วที่สุด โดยลดขั้นตอนอะไรได้ต้องรีบทำ ผมไม่อยากเห็นข่าวไม่ดีเกิดขึ้นกับผู้หญิงอีก และจากนี้ ก็จะต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนี้ให้ประชาชนรับทราบ” รมว.ยุติธรรม กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายป้องกันกระทำผิดซ้ำนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้สังคมรับรู้ว่า บุคคลอันตรายที่พ้นโทษออกมานั้น อยู่ตรงไหน จะได้ช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก ส่วนมาตรการทางการแพทย์ที่สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย หรือ ฉีดให้ฝ่อ แก่ผู้กระทำผิด หากแพทย์อย่างน้อย 2 คนเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ และได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิดนั้น ตนมองว่า ไม่เป็นการกระทบสิทธิ เพราะผู้ต้องหาต้องยินยอมด้วย ซึ่งมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว แต่อาจจะไม่มีการใช้ถึงขั้นนั้น เพราะหากมีมาตรการเฝ้าระวังแล้ว ที่เสมือนเป็นการปิดช่องก่อเหตุซ้ำ ก็จะไม่ต้องนำมาใช้ เนื่องจากเราได้ป้องกันที่ต้นเหตุแล้ว แต่การมีกฎหมายที่รุนแรง ก็ยังจำเป็น เพื่อช่วยป้องปรามได้อีกทางหนึ่ง







คุณอาจสนใจ

Related News