เลือกตั้งและการเมือง

สะท้อนเลือกตั้งกทม. สู่เลือกตั้งใหญ่ ผ่าน 4 คำ “ไหว้ - เบื่อ - พุง(รอยยิ้ม) - ทางเลือก”

โดย paweena_c

27 พ.ค. 2565

377 views

สะท้อนเลือกตั้งกทม. สู่เลือกตั้งใหญ่ ผ่าน 4 คำ “ไหว้ - เบื่อ - พุง(รอยยิ้ม) - ทางเลือก”

3PlusNews ชวน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงเหตุการณ์ หลัง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนน 1.38 ล้านคะแนน ทั้งปรากฎการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” สถิติใหม่คะแนนสูงสุดในเลือกตั้งผู้ว่า และอีกหลายด้านที่เราเห็น

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนอะไร มุมมองของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการด้านการเมือง ต่อเหตุการณ์เหล่านี้คืออะไรบ้าง ชวนอ่าน และหาคำตอบไปพร้อมกัน


การเลือกตั้งกทม.65 เห็นอะไรในภาพใหญ่ของการเมืองไทย

ก่อนที่เราจะเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าว ศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญในเชิงข้อมูล (Data point) ไม่ใช่แนวโน้ม (Trend) ยกตัวอย่างถ้ามีข้อมูลว่า คนที่ไปฟังคอนเสิร์ตในเมืองเคียฟ ตะโกนไม่เอาปูติน ไม่เอาทหาร แล้วเราจะบอกว่าคนรัสเซียไม่เอาปูติน แบบนี้คงไม่ได้ เพราะถ้าจะเป็นแนวโน้ม ต้องมีจำนวน มีดัชนี ภูมิรัฐศาสตร์ หรือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่านี้หลายที่ พูดในหลักวิชาก็คือ เหตุการณ์ที่เป็น singlespot ไม่ใช่แนวโน้ม

“ถามว่า เหตุการณ์เดียวนี้สำคัญไหม? “สำคัญ” เพราะมันเป็นจุดสำคัญในเชิงข้อมูล ที่จุดประเด็นให้เราจะเข้าไปดู และคลี่มันออกมาว่า มีความหมายว่ายังไง”


จุดเชื่อมต่อเหตุการณ์ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ต้องมองมันในฐานะจุดเชื่อมต่อของเหตุการณ์ ระหว่าง อดีต คือ 22 พฤษภาคม 2557 และอนาคตคือการเลือกตั้งระดับชาติที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นวันไหน แต่น่าจะรออยู่ข้างหน้า และเพื่ออธิบายว่าการเลือกตั้งผู้ว่าในครั้งนี้ สำคัญอย่างไร ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชวนเราให้โฟกัสที่ 4 คำ ได้แก่ ไหว้, เบื่อ, พุง(รอยยิ้ม) และ ทางเลือก


“ไหว้”

ถ้าจะบอกว่าชัยชนะของพรรคฝ่ายก้าวหน้า มาจากความแตกแยกกันในหมู่ของอีกฝ่าย ถึงอย่างนั้น เสียงอีกฝ่ายที่รวมกัน ก็ยังคงไม่ชนะฝั่งก้าวหน้าอยู่ดี แต่ถ้าถามว่าฝ่ายที่ชนะ ควรจะไหว้ขอบคุณใคร ในฐานะที่เป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คำตอบที่ถูกใจกันก็คง “ขอบคุณประชาชน” อาจารย์ชัยวัฒน์เรียกมันว่า “นี่เป็นคำตอบที่ถูกจนไม่มีประโยชน์” เพราะมันไม่พาไปไหนในแง่ความคิดความอ่าน

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ คิดว่าคนเหล่านี้ น่าจะไปขอบคุณ และควรจะไป “ไหว้” ใครก็ตาม ที่เลือกวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เพราะมันมีความหมายเยอะมากจากการที่เลือกเอาวันนี้ หลังจากที่ไม่ได้เลือกตั้งมานานกว่า 8 ปี และแม้จะมีการเลือกตั้งระหว่างทาง แต่ก็คงเห็นว่ามีปัญหามากมายแค่ไหน ฉะนั้นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันแบบจริงจัง และคู่ต่อสู้ที่สูสี มีกฎเกณฑ์ และการซื้อขายเสียงก็ทำได้ยากในเขตกทม. ตรงนี้มันน่าสนใจมาก ที่มาตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม

“การที่ใครก็ไม่รู้ที่เลือกวันที่ 22 พ.ค. 65 เป็นวันเลือกตั้ง มันมีความหมายกับผู้คนที่เป็น “ฝ่ายก้าวหน้า” เห็นได้จาก สิ่งแรก ๆ ที่ “ชัชชาติ” พูดกับประชาชนตอนกลางคืนก่อนประกาศผล คือเหตุการณ์ในวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่เขาถูกคลุมหัวยังไง เข้าไปที่ไหน พูดอีกอย่างคือ เขามองย้อนกลับไปในเหตุการณ์นั้นด้วย”

ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือ นี่คือ "หนทางในการแก้ลำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน" หลัง 22 พ.ค 57 ที่ประชาธิปไตยถูกขุดหลุมฝัง ถึงแม้ที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง แต่ก็เพิ่งมีคราวนี้ที่การเลือกตั้งมันมี “ลมหายใจของประชาธิปไตยที่เข้มข้น” ดังนั้น ความตื่นตัวก็ดี ผู้คนก็ดี การแข่งขันก็ดี มันน่าสนใจ และเกิดทางเลือกว่า เราจะเลือกใคร ระหว่างฝ่ายที่ขโมยสิทธิเสรีภาพของเราไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม กับอีกฝ่ายที่เสนอว่าสิทธิเสรีภาพของเรามันสำคัญ

“การเชื่อมกับวันนั้นในอดีต ทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น คนทั่วไปอาจไม่คิดย้อนไปเหมือนสิ่งที่ผมพูด แต่พรรคการเมืองที่เขาสูญเสียในเหตุการณ์ 22 พ.ค. 57 เขาคิดแน่นอน และเขาก็ทำงานการเมืองโดยมีอะไรแบบนี้อยู่ข้างใน"

"ความเห็นผมจึงไม่ใช่ประเด็นแค่ว่า ใครอยู่ฝ่ายไหน ทักษิณมีอิทธิพลหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องแบบนั้นแล้ว และแม้จะมีเงาพวกนั้นอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่สำนึกที่บอกว่าผู้คนในประเทศเจอแต่การรัฐประหาร แม้จะบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่การที่มันอยู่มานานถึง 8 ปี มันจึงนำมาสู่ปัญหาที่ 2 คือ “ความเบื่อหน่าย”


"เบื่อ"

"คุณเก่งแค่ไหนก็ได้ แต่คุณเอาความรู้สึกเบื่อหน่ายของมนุษย์ทิ้งไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะดีแค่ไหน คุณก็เอาความเบื่อหน่ายของมนุษย์ทิ้งไปไม่ได้เช่นกัน"

ความเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญ เพราะมันเป็นตัวบาลานซ์สิ่งที่มนุษย์จะเบื่อ ถ้าสมมุติเราอยู่กับอะไรสักอย่างไปเรื่อย ๆ แม้ชีวิตนั้นจะดีและมั่นคง ถึงจุดหนึ่งมันก็เบื่อ แล้วยิ่งชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้ดีอย่างที่มีคนบอก “ไหนบอกว่าชีวิตจะดีขึ้น ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ไม่จริงสักอย่าง ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้น

ความเบื่อหน่ายของมนุษย์จึงเป็น “ตัวแปรของสมการแห่งอำนาจ” ที่ยกทิ้งไม่ได้เลย นั่นแปลว่ายิ่งอยู่นานยิ่งมีภาระหน้าที่ให้ทำไม่เบื่อ แต่สถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญตอนนี้ไม่ใช่เลย กลับกลายเป็นยิ่งอยู่นาน ยิ่งมองไปทางไหน ก็ยิ่งน่าเบื่อหน่าย แล้วมาบอกว่า "ทำดีที่สุดแล้ว" ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันก็ยังดีไม่พอ เพรามันยังจัดการกับอะไรก็ไม่ได้เลย


คงเป็นโชคร้าย ก่อนการเลือกตั้งกทม.ที่ฝนเทลงมา ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำนอง คนกรุงเทพฯ ก็คงมองว่า 'อัศวิน' ลำบากแน่ ถ้าเลือกเข้ามาอีก ปัญหาก็คงซ้ำเดิม ดังนั้นจึงคิดว่าขอลองใหม่ดีกว่า ทำนองเดียวกัน ถ้าเรากลับไปดูในอดีต เราเคยมีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลานาน เช่น ยุคพลเอกเปรม ตอนนั้นก็ค่อนข้างมั่นใจว่าคนในรัฐบาลก็เป็นคนที่มีความสามารถ มีความน่านับถือ แต่พอนานไปก็มีคนออกมาคัดค้าน ทำป้ายออกมาบอกว่า “เบื่อป๋า เซ็งเปรม” ตอนนั้นถ้าถามว่าทำอะไรผิด ก็ไม่ผิดหรอกแต่คนเบื่อ เพราะอยู่นาน ฝรั่งเรียก "Overstaying your welcome"  

“ผมไม่ได้บอกว่ารัฐประหารดี แต่ถ้าเข้ามาอยู่แล้วออกไปเร็ว ก็คงจะมีผลอีกอย่าง แต่นี่อยู่แล้วสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ได้อยู่ต่อ ถึงแม้ตอนนี้บอกว่าไม่ใช่คสช.แล้ว แต่คนก็เห็นว่า มรดกรัฐประหารของคสช.ก็ยังดำรงอยู่เต็มไปหมด ทั้งในรูปแบบขององค์กรและสถาบันต่าง ๆ ฉะนั้นความเบื่อหน่ายมันจะไม่มีเลยหรือในประเทศนี้ ถ้าจะให้กลับไปแก้อะไรก็คงไม่ได้ คงคิดอะไรเดิม ๆ และในที่สุดก็เกิดปัญหาขึ้น”


คู่ต่อสู้ที่สูสี ทำให้รู้ว่ามีดีมากแค่ไหน

คุณชอบอะไรในตัวผู้สมัคร? อาจารย์ชัยวัฒน์ถาม “ชอบการที่ผู้หาเสียงแสดงตัวตนออกมา และมีทีท่าถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” เราตอบ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อธิบายเรื่องราวต่อจากคำตอบที่เขาได้รับ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ 1.พวกเขาแสดงตัวตนของตัวเอง และ 2.ท่าทีที่พวกเขาดูอารีอารอบต่อกัน

“การอารีอารอบต่อกัน” การเลือกตั้ง เป็นนวัตกรรมทางสันติวิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะมันหาหนทางตอบปัญหารากฐานทางการเมือง ซึ่งในอดีตเคยได้ตอบปัญหาโดยอาศัยความรุนแรงเป็นหลัก จากคำถามที่ว่า “ใครควรจะเป็นผู้ครองอำนาจรัฐ” ในอดีตเมื่อถามว่าใครควรจะครองอำนาจรัฐ ก็อาจต้องดูว่า คนนั้นมีคนสนับสนุนเท่าไหร่ มีอาวุธเท่าไหร่ มีปืนฝาหน้าไม้เท่าไหร่ แล้วคนที่มีมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะขึ้นมาครองรัฐ

ฉะนั้น “การเลือกตั้ง” จึงเป็น “นวัตกรรมสันติวิธี” ที่สำคัญ เพราะมันเปลี่ยนเรื่องนี้ จากการใช้กระสุนปืนมาเป็นบัตรเลือกตั้ง ซึ่งยังคงทำหน้าที่ในแบบเดียวกัน คือประเมินว่าผู้สมัครที่จะเข้ามาเป็นผู้ปกครองนครกรุงเทพฯ มีจำนวนคนสนับสนุนเท่าไหร่ เราจึงเรียกมันว่า “เปลี่ยนจาก Bullets มาเป็น Ballots” คือเปลี่ยนจากกระสุนเป็นบัตรเลือกตั้ง

“ในบริบทของการใช้กฎเกณฑ์แบบนี้ เวลาเราเป็นคู่แข่งกัน เราก็อยากได้คู่แข่งที่สูสี อยากได้คู่ต่อสู้ที่ดี เพื่อให้เห็นว่าเราแน่แค่ไหน เรื่องคู่ต่อสู้จึงสำคัญ ดังนั้นการที่เขาอารีอารอบกัน มันก็เป็นตัวนวัตกรรมนี้ด้วย เพราะคนที่คุณเผชิญหน้าอยู่ เป็นคู่แข่ง(opposition) ไม่ใช่ศัตรู (enemy)”


“พุง(รอยยิ้ม)”

ที่ผ่านมาผู้สมัครแต่ละคน ต่างแสดงความเป็นตัวตนออกมา เช่นจากชุดที่ใส่ เวลาเดินหาเสียง บางทีก็ใส่เสื้อยืดกางเกงยีน หรือถ้าออกรายการก็เลือกใส่เบลเซอร์ ไม่ใช่สูทด้วยซ้ำ และอีกสิ่งที่ถ้าสังเกตคือ “ชัชชาติ” จะมีพุงน้อย ๆ นิดหน่อยพอน่ารัก ที่เขาเองก็ไม่ได้พยายามปิดบัง ถือเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจในการแสดงตัวตนของเขา

อาจารย์ชัยวัฒน์ หยิบยกความเห็น ที่บอกว่ามาจากผู้ที่ฉลาดสุดในบ้าน นั่นคือ 'ภรรยา' ที่กล่าวว่า รอยยิ้มของชัชชาตินั้นน่าสนใจ และมันมีความน่ารัก เพราะมีแก้ม ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์เห็นด้วยตามนั้น เพราะพอคิดแบบนี้ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก สิ่งที่ชัชชาติผลิต เป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้อีกแบบหนึ่ง แม้มีคนจำนวนหนึ่งล้อเลียน ว่าไม่เห็นทำอะไรนอกจากถือถุง และเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แต่เห็นหรือไม่ว่า ภาพของการถือถุง ประกอบกับลักษณะไหล่ที่ใหญ่ กล้ามจากการออกกำลัง ขณะเดียวกันก็มีพุง และมีรอยยิ้ม ทั้งหมดนี้ รวมกันแล้วมันดู “เหมือนตัวการ์ตูน”

“สิ่งที่ชัชชาติทำคือ ไม่ได้ไปลบตัวการ์ตูนที่คนสร้างให้ ว่าเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แต่เขาเอาตัวเองสวมเข้าไปในตัวการ์ตูน ฉะนั้น ไม่ว่าพุงก็ดี รอยยิ้มก็ดี อะไรทั้งหลาย เลยกลายเป็นจุดจำ ขณะเดียวกันทุกคนก็รู้ว่าชัชชาติเริ่มหาเสียงมา 2 ปีครึ่งแล้ว คนอาจจะบอกว่าเพราะทำมานาน นั่นก็จริง แต่วิธีที่แสดงตัวตนนั้นก็น่าสนใจ”

ความเป็นตัวตนคืออะไร เวลาเราพูดหรือหาเสียง "เราพูดในสิ่งที่อยากให้ผู้ฟังได้ยิน หรือเราพูดในสิ่งที่ตัวเราเป็น" นี่เป็นสิ่งที่ต้องเลือก การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคนแสดงตัวตนในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ หนังสือที่อ่าน หรือฮีโร่ที่ชอบ แต่ว่าเพื่อให้เห็นการแสดงตัวตนก็นับว่าเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ทำให้ระดับการแสดงตัวตนของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน สิ่งที่สำคัญคือจะผสานตัวตนที่ว่านี้อย่างไร ให้เข้ากับปัญหาที่คนกรุง หรือคนในประเทศกำลังเจอ แล้วไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง

“นี่คือความสำเร็จ ที่ชัชชาติ ไม่ได้โยนตัวการ์ตูนทิ้ง แต่เดินเข้าไปในตัวการ์ตูน แล้วเดินออกมาในฐานะที่เป็นภาพจริงของตัวการ์ตูน โดยไม่ต้องใช้มาสคอท เป็นตัวเองในแบบที่ตัวเขาเป็น บางทีไปไหนก็ถือถุง กลายเป็นการรีไมน์ผู้คนว่า ฉันก็คือคนถือถุงที่เธอจำฉันได้ในอดีต”

ตัวตน ตัวเลือก และตัวแทนที่จริงแท้

ระบบการเลือกตั้ง สก. และ สส. ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "representative" ที่เรียกว่าอย่างนี้ เมื่อแยกคำออกก็จะเห็นว่า มีคำว่า re อยู่ข้างหน้า เมื่อตัดออกจะเหลือคำว่า present เป็น "ตัวแทน" แล้วถามต่อว่า เป็นตัวแทนใคร? ก็คือ "ตัวแทนฉันที่จริงแท้ ไม่ใช่ตัวแทนฉันที่ไม่มีความจริงแท้อยู่" และตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางเลือก ของผู้เลือกตั้ง ที่ขณะนี้อาจจะกำลังมองหาตัวตนที่แท้จริงของคนที่เขาเลือก ซึ่งเราก็คงไม่อยากได้นักการเมืองหรือตัวแทน ที่เป็นตัวลวงของเรา

อาจารย์ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นในการเลือกประธานสมาคมนักข่าว ตัวเลือกระหว่าง เอ.ที่เป็นนักข่าวอาวุโส กับ บี. ที่เป็นรุ่นพี่นักข่าวในสนาม เราก็คงเลือก บี. เพราะมีความเป็นตัวแทนของเราได้มากกว่าในเวลานี้ ด้วยประสบการณ์ที่จริงกว่าในเวลานี้ ไม่ใช่ เอ. ไม่ดี แต่มีประสบการณ์ที่นานมาแล้ว จึงไม่ใช่ตัวแทนที่จริงแท้ (authentic) อีกต่อไป

“เมื่อผู้สมัครแสดงตัวตนออกมาให้เราเห็นในระดับที่ต่างกัน ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าชอบระดับไหน แล้วก็ต้องเลือก ซึ่งการแสดงตัวตน ก็ต้องเหมาะสมกับวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมนั้นด้วย นี่เป็นบาลานซ์ที่สำคัญ”


“ทางเลือก”

ประเด็นสุดท้ายคือทางเลือก เมื่อเรามองไปข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ มีหลายข้อด้วยกัน ถ้าจะถามว่ามีอะไรที่สำคัญ นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมือง

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อ้างอิงข้อมูลจาก World bank พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2010 ตัวเลขของคนที่อยู่ในเขตเมืองมีกว่า 50% ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนมีเพียง 36% ความเปลี่ยนแปลงนี้มีปริมาณมากขึ้นในระดับประเทศ และความเป็นชนบทที่ลดลง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมาเกิดขึ้นในเมือง คำถามคือ แล้วมันจะมีผลกับการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้าไหม? คำตอบคือ การเลือกตั้งคราวหน้า “เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ที่เปลี่ยนจากชนบทเป็นเมืองมากขึ้น” แล้วมันแปลต่อไปได้ว่า “ความปรารถนาของคนเมือง ไม่เหมือนกับความปรารถนาของคนชนบท”

ความเปลี่ยนแปลที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มาพร้อมความปรารถนาของคนที่ไม่เหมือนกัน เมื่อเราดูตัวเลือกของคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบใคร ตัวเลือกที่พรรคการเมืองต่าง ๆ มอบให้ ก็ล้วนน่าสนใจเกือบทั้งนั้น อย่างนี้แล้วในการเลือกตั้งใหญ่ พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องคิดแล้วว่า ตัวเลือกของนายกรัฐมนตรี ที่มอบให้กับประชาชน ดีพอที่จะไม่ดูหมิ่นดูแคลน ความรู้สึกของประชาชนที่เลือกหรือไม่

“บางพรรคเองยังคิดอยู่เลยว่า จะเอาพี่คนกลางหรือพี่คนใหญ่ลงสนาม และไม่อายหรือ ที่จะเอาพี่คนใหญ่มาลง การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดสำคัญเชิงข้อมูล ที่ชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติผู้นำที่คนเมืองอยากเห็นคืออะไร ตอนนี้ปริมาณคนเมืองมีมากกว่าคนชนบทแล้ว และคนรุ่นใหม่ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย สังคมมันเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว”

ที่เราพูดกันไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงเทคนิค แต่คือความเป็นจริงของสังคมที่มันเปลี่ยนไป รัฐบาลหลายประเทศ ไม่ยอมให้คนที่ได้รับการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งนานเกิน 8 ปี ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกิน และอีกอย่างก็คือคนเบื่อ ชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้น และความเป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งสองเป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สูง

“ทั้งหมดอยู่ในฐานคิดที่ว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องสำคัญที่สุดคือความฝัน ในเมืองเรามีความฝันแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราอยู่ชนบท ความฝันของเราก็เป็นอีกชุดหนึ่ง ความฝันมันเปลี่ยนได้ และการเมืองก็ไม่ใช่อย่างอื่น มันคือสิ่งที่พยายามจะคิดว่า เราจะสร้างความเป็นจริงจากความฝันของมนุษย์ได้ยังไง”





คุณอาจสนใจ

Related News