เลือกตั้งและการเมือง

อดีต กกต. ไขปม ปัญหา “บัตรเลือกตั้งปลอม” กับการตัดสินใจที่ผิดพลาด

โดย JitrarutP

19 พ.ค. 2564

852 views

จากกรณที่ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งเทศบาลใหม่ 37 จังหวัด 76 หน่วยเลือกตั้ง เนื่องจากพบปัญหาบัตรเขย่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรนั้น ยังพออธิบายถึงเหตผลได้ เพราะเกิดปัญหานี้มาแล้วกับการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาบัตร 2ใบ แยกระหว่างเลือก นายก อบจ. กับเลือก สมาชิก อบจ. ที่ทั้ง 2 ตำแหน่งมีเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ใช้สิทธิที่ต่างกัน บางคนมีเพียงสิทธิเลือกนายก แต่ไม่มีสิทธิเลือกสมาชิก แต่ปัญหาก็เกิดที่กรรมการประจำหน่วยผู้แจกบัตรลงคะแนนกลับแจกไปทั้ง 2 บัตรทั้งที่ ผู้มีสิทธิบางคนเลือกได้เพียงอย่างเดียว




แต่อีกปัญหาที่หลายคนแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อนคือ “บัตรปลอม” ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นที่ จ.กระบี่ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะจับได้ว่าขนาดของบัตรไม่เท่ากันจึงเป็นประเด็นที่น่าคิดว่าถ้าหากบัตรมีขนาดเท่ากันขึ้นมาก็คงแยกไม่ออกหรือไม่


อดีต กกต. คลี่ปมสงสัย




ในที่สุดก็ถึงบางอ้อ ต่อความผิดพลาดครั้งนี้ โดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. ออกมาบอก ถึงสิ่งที่ ชาวบ้านรู้ โลกรู้ กกต. ไม่รู้ กับ กรณี การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาและ กำลังจะครบกำหนด 60 วันประกาศผลในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้


อดีต กกต.สมชัย ตั้งคำถามไปยัง กกต.ปัจจุบันว่า รู้หรือไม่ การเลือกตั้งดังกล่าวที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องด้วยการตัดสินใจผิดพลาดหรือโดยตั้งใจของ กกต. ชุดปัจจุบันเพราะโดยปกติ กกต. ทุกชุด “ไม่เคยนำรูปแบบและสีของบัตรเลือกตั้งมาแสดงต่อประชาชน “ โดยถือเป็นความลับขั้นลับที่สุด จะมีคนรู้น้อยที่สุดโดยจำกัดเพียงแค่ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิมพ์บัตรเท่านั้น


และในการการออกเสียงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 มีตนเองเพียงคนเดียวที่รู้แบบและสีบัตร กกต. อีก 4 ท่านยังไม่รับทราบและไม่เคยปรารถนาจะรับรู้หรือสอบถาม จนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งจริง ทุกคนจึงรับรู้ ด้วยเหตุที่ไม่ต้องการให้มีการทำบัตรปลอมของผู้ต้องการทุจริตในการเลือกตั้ง




อดีต กกต.สมชัย ระบุว่า กกต.ชุดนี้ กลับปรารถนาดี เปิดเผยรูปแบบบัตรเลือกตั้ง มีตัวอย่างและสีของบัตร ให้ประชาชนทราบในวันที่ 9 มีนาคม 2564 เพราะเกรงประชาชนจะสับสนในการการเลือกตั้ง


แต่ผลคือ ผู้สมัครนำไปพิมพ์เป็นบัตรตัวอย่างให้ประชาชนกาบัตรตาม และ บางที่ถึงขนาดพิมพ์เท่ากับขนาดบัตรจริง กาหมายเลขตัวเองพร้อมสรรพ ให้ประชาชนนำเข้าไปหย่อนหีบในวันเลือกตั้ง และลักลอบนำบัตรจริงเปล่าออกมา เพื่อรับเงิน จากนั้น ก็มอบให้ผู้มีสิทธิคนต่อไป นำบัตรจริงที่กาหมายเลขของพวกตน เอาเข้าไปหย่อนใหม่ และนำบัตรจริงเปล่าออกมา ทำวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ หนึ่งหน่วยอาจจะ 10-20 บัตร แต่รวมหลายหน่วยก็เป็นร้อยเป็นพันคะแนนได้โดยหลักฐานที่จะพบคือ มีบัตรปลอมที่กาหนึ่งใบในหีบเลือกตั้งเท่านั้น และหาก กรรมการ ไม่รู้ หรือ รู้เห็นเป็นใจ ก็จะไม่มีใครทราบ เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตไป



อดีต กกต. กล่าวว่า นี่เป็นเทคนิคที่เคยใช้โกงเลือกตั้ง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้กลับมาแล้ว พร้อมทั้งเปิดเผยภาพบัตรเลือกตั้ง ที่มีคนกาหมายเลขแล้ว โดยระบุว่าเป็นภาพบัตรเลือกตั้งจริงที่ถูกกาหมายเลขทีมผู้สมัครทีมหนึ่งเรียบร้อย และนำมาให้ประชาชนนอกหน่วย (ให้สังเกตฉากหลัง คือ อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ) เพื่อให้ประชาชนนำเข้าไปหย่อนบัตร และลักลอบนำบัตรเปล่าออกมา กาเวียนเทียน ใหม่



(คอลัมน์ - ใต้เตียงการเมือง by ARMdhiravath)




คุณอาจสนใจ

Related News