เลือกตั้งและการเมือง

เจาะแนวทางสมานฉันท์ ทำได้จริง หรือแค่ยื้อเวลา?

โดย JitrarutP

3 ก.พ. 2564

74 views

จากกรณีที่ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น โดยมีฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ ร่วมกันหาทางออกประเทศท่ามกลางการตั้งคำถามว่าเป็นการทำได้จริงหรือเป็นเพียงการยื้อเวลาเพื่อบรรเทาสถานการณ์ทางการเมืองให้ผ่อนคลายลง เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้ปราศจากฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้าร่วม  


ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้เพื่อการหาทางออกให้กับประเทศในระยะยาว ซึ่งแยกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเป็นการดำเนินการภายใต้โครงสร้างสถาบันพระปกเกล้าเพื่อการศึกษาสภาพปัญหาทั้งจากในอดีต หาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก และการศึกษาปัญหาจากสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงทางออกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 



• ทำไมต้องสมานฉันท์?


ด้านศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในปรมาจารย์ด้านปัญหาความขัดแย้งที่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ในครั้งนี้เปิดใจกับทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ยืนยันว่าจาสภาพปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบการเรียกร้องใหม่ๆจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพราะการอ้างกฎหมายบางครั้งกลายเป็นอ้างเพื่อให้บางฝ่ายได้เปรียบจนเกิดความไม่เป็นธรรม หรือที่เราได้ยินกันว่าสองมาตรฐาน สามมาตรฐานเกิดขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาร้าวลึกมากขึ้น


ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะจัดการโดยอ้างการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมาพึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ประกอบด้วยฝ่ายค้านและฝ่ายต่างๆเข้ามาช่วย ภายใต้หลักนิติธรรมกับความหวังของคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่คือสมาชิกของอนาคต เพราะที่ผ่านมาวิธีต่างๆที่ใช้กับคนรุ่นใหม่ดูจะไม่เป็นธรรม อ้างกฎหมายโดยไม่อำนวยหลักนิติธรรม ดังนั้นเราควรดำเนินการโดยไม่เอื้อให้ใช้หลักกฎหมายทับถมการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่จนทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อและเรื้อรังมากขึ้น  


“ อย่ามองแค่ว่าสังคมดิจิทัลยุคใหม่เป็นต้นเหตุของคนขัดแย้งระหว่างรุ่นเพราะจริงๆมันสามารถสร้างความหวังร่วมกันระหว่างรุ่นก็ได้ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีความขัดแย้ง ปรากฏการณ์การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่น่าจะมีด้านบวกที่จะทำให้เรามีพื้นที่ถกกันถึงความมั่นคงในอนาคตถือเป็นโอกาสให้เกิดการเงี่ยหูฟังกันมากขึ้น ซึ่งการฟังข้ามรุ่นกันได้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ” 



• แล้วจะสมานฉันท์กันอย่างไร?


ศาสตราจารย์สุริชัย กล่าวว่า ปัจจุบันในทางวิชาการยอมรับความจริงแล้วว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่มีภูมิคุ้มกันความรุนแรงอันเกิดจากความเข้มแข็งภายในประเทศ มีแต่จะต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เราจะต้องเอาใจใส่กันในรากเง้าของปัญหา  


“ บทเรียนทางวิชาการก็คือว่า ความสมานฉันท์ในสภาวะบังคับมันมีข้อจำกัดทำได้เฉพาะบางกรณี แต่หวังว่าจำได้ผลคงเป็นเรื่องยาก และขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการสมานฉันท์ในรูปแบบบังคับ จะไม่เอื้อต่อการสร้างอนาคตที่มีความหวังและยั่งยืนของประเทศ ดังนั้นเราต้องคิดใหม่ทำใหม่โดยการสมานฉันท์แบบสมัครใจ ” 


• อะไรคือการสมานฉันท์แบบสมัครใจ?


ศาสตราจารย์สุริชัย กล่าวว่า ความสมานฉันท์ปรองดองโดยเงื่อนไขของการบังคับ กับความสมานฉันท์ปรองดองโดยเงื่อนของของความรู้แจ้งเห็นจริงนั้นต่างกันมาก ซึ่งการสมานฉันท์แบบมีกำลังบังคับเราได้ทดลองมา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา จนเกิดคณะกรรมการสมานฉันท์มากมายถึง 13 ชุด แต่เดินไปได้ยาก เกิดการตั้งคำถามมากมายเพราะเน้นแต่กฎหมายอย่างเดียวโดยไม่เอาหลักนิติธรรม จนกลายเป็นการเอาหลักตัวหนังสือมารังแกกัน


ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการสมานฉันท์บนเงื่อนไขของความสมัครใจ เคารพความตั้งใจของแต่ละฝ่าย และมาปรับทุกข์รวมกัน ซึ่งไทยเคยเรียนรู้รูปแบบนี้มาบ้างแล้วในอดีตภายใต้เงื่อนไขที่รัฐอภัยให้กับผู้กระทำผิด และเอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันจนเกิดคำสั่ง 66/2523 ซึ่งเป็นสูตรยุติสงครามปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โดยวิธีการทางการเมืองนำการทหาร แม้อาจจะไม่ใช่การสมัครใจแบบ 100% แต่ทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้สังคมไทยผ่านสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งในยุคหลังเรามักใช้คำว่านิรโทษกรรม แต่สุดท้ายคำนี้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองที่ไม่มีใครอยากจะฟัง 


“ การสมานฉันท์โดยความสมัครใจเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมาก เราเคยทำมาแล้ว ที่ครั้งนั้นเราต้อนรับคนกลับคืนสู่การพัฒนาประเทศร่วมกัน หรือที่เรียกว่าผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตอนนั้นเราสัญญากับคนมากหลายว่า คนที่ออกมาจากภูเขา ออกมาจากป่าแล้ว เราจะยินดีหาที่ทำกินให้เขา ดังนั้นการสมานฉันท์โดยความสมัครในจะต้องแสดงให้เห็นความตั้งใจและเด็ดเดี่ยวที่จะมองว่าเรื่องสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย ไม่ใช่เรื่องขอไปที ซึ่งฝ่ายที่มีอำนาจกว่าสามารถแสดงบทบาทได้มาก อย่ามองปัญหาแบบดูเบา ไม่ใช่จะไล่ใครออกจากแผ่นดินไทยไปได้ง่ายๆ แต่ต้องทำให้แผ่นดินนี้มีพื้นที่ร่มเย็นสำหรับทุกคนทุกส่วน ” 



ภาพ : นพพล ธนเสน

ผู้สื่อข่าว ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น


YouTube : https://youtu.be/yUDQk9xqRoU

คุณอาจสนใจ

Related News