เลือกตั้งและการเมือง
กมธ.มั่นคงฯ ยันมีอำนาจสอบปม 'ทักษิณ' นอนชั้น 14 ย้อนถาม ยธ. เอาอะไรมาวินิจฉัยสิทธิ์การทำหน้าที่
โดย panwilai_c
21 พ.ย. 2567
83 views
ความเคลื่อนไหวกรณีนายทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งวันพรุ่งนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานฯ ได้เชิญบุคคลเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้เเจง
เเต่ปรากฏว่าเช้าวันนี้ "กระทรวงยุติธรรม" ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว-เเสดงความกังวลเรื่องข้อกฎหมาย โดยเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะอยู่ในอำนาจของกรรมาธิการความมั่นคงฯ และมองว่าซ้ำซ้อนกับกรรมาธิการชุดอื่น เบื้องต้นได้ทำหนังสือแย้งไปที่ประธานสภา และกรรมาธิการชุดนี้แล้ว ขณะที่โฆษกกรรมาธิการความมั่นคงฯ ก็ออกมาแถลงโต้กลับ ยืนยันว่า มีอำนาจตรวจสอบพร้อมกับย้อนถาม กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า มีอำนาจอะไรมาวินิจฉัยการทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ขัดรัฐธรรมนูญ
ที่กระทรวงยุติธรรม ช่วงเช้าวันนี้ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีที่คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เเละคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ไปให้ข้อมูลเเละชี้เเจง กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจในระหว่างต้องโทษ บางช่วงของการเเถลง นายสมบูรณ์ ระบุว่า กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตรวจสอบกระทรวงยุติธรรม
โดยคณะกรรมาธิการ 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมาธิการการตำรวจ เคยมีหนังสือแจ้งให้กรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2566 และต่อมา ได้นัดหมายไปดูสถานที่เกิดเหตุที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว
-ส่วนชุดที่ 2 คือ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้มีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจง และส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง / และล่าสุด กรรมาธิการชุดนี้ได้มีหนังสือมาเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม / อธิบดีกรมราชทัณฑ์ / และบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติม โดยนัดหมายในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้า
นายสมบูรณ์ บอกว่า กระทรวงยุติธรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กรมราชทัณฑ์เห็นว่าเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ"กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ"
เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือเชิญ จึงมีการเสนอพิจารณาความเห็นไปตามลำดับ และเมื่อวานนี้ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ถึงข้อกังวลเรื่องข้อกฎหมาย ด้วยเหตุผล 3 ข้อ
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการที่ คณะกรรมาธิการจะศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งเรื่องที่เชิญไปให้ข้อมูลนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ
ข้อ 2. การดำเนินการเรื่องนี้ ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผูัแทนราษฎร
เเละข้อ 3. ปัจจุบันมีองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น ป.ป.ช. / สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน / คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่า คณะกรรมาธิการ ควรต้องคำนึงว่าตอนนี้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้วด้วย
นายสมบูรณ์ บอกอีกว่า รัฐมนตรีฯยุติธรรม มีความกังวลเรื่องนี้ และยังไม่ได้ให้คำตอบว่า พรุ่งนี้จะไปให้ข้อมูลกับกรรมาธิการหรือไม่ ทั้งนี้ได้ทำหนังสือท้วงติงแสดงความเห็นไปเเล้ว เเละผู้ที่จะชี้ขาดได้ ก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมไม่โต้เเย้งตั้งเเต่การเข้าไปให้ข้อมูลครั้งเเรก นายสมบูรณ์ ระบุว่า ทุกฝ่ายต้องการที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบมากที่สุดอยู่แล้ว ครั้งแรกที่มีหนังสือมา ขออะไรก็ให้ไป และไม่ได้มีการเชิญบุคคลเข้าไปให้ข้อมูลเยอะเท่าครั้งนี้ แต่เมื่อครั้งนี้เชิญมาหลายคน รวมถึงผู้บริหารระดับสูง
พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่จบไปแล้ว ตอนนี้เป็นเพียงขั้นตอนของการตรวจสอบ และไม่ขอตอบกรณีที่ว่า หากอนาคตเกิดกรณีเดียวกันกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีความวุ่นวายเช่นนี้หรือไม่
อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวมาจาก นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ออกมาแถลงตอบโต้กระทรวงยุติธรรมที่เเสดงความเห็นว่า กรรมาธิการความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบนายทักษิณกรณีพักรักษาตัวชั้น 14 โดยนายปิยรัฐ บอกว่า กรณีที่ระบุว่า ได้ทำหนังสือท้วงติงถึงกรรมาธิการทุกคน ว่าไม่มีอำนาจเชิญหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม กรณีคุณทักษิณรักษาตัวชั้น 14 แต่ทางกรมราชทัณฑ์กลับไปแถลงข่าวก่อน ทั้งที่ประทับตราลับไว้แล้ว
ยืนยันว่า กรรมาธิการฯได้ทำหนังสือเชิญกรมราชทัณฑ์มาแล้ว 1 รอบ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มาชี้แจง อาจตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และอธิบายว่า ระบุในหนังสือเชิญไว้ ชัดเจนว่าต้องการศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีกรมราชทัณฑ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ กับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย
จากนั้น ก็โชว์เอกสารหนังสือเชิญดังกล่าว ยืนยันว่า กรรมาธิการฯ สามารถศึกษาเรื่องการปฏิรูปได้ และดูจากชื่อกรรมาธิการฯที่ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐและการปฏิรูปประเทศ ก็สามารถทำงานครอบจักรวาลได้ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ก็ทำมาแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอธิบดี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ทำหนังสือมาถึงกรรมาธิการ ที่บอกว่าเราทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ "มีอำนาจอะไรมาวินิจฉัย และ ขอให้โต้แย้งมาว่ากรรมาธิการฯไม่ได้ประชุมเรื่องการปฏิรูปอย่างไร"
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มองการแถลงในครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมมีเป้าประสงค์อย่างไร / สส.ปิยรัฐ บอกว่า คงต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ดังนั้น รัฐมนตรีน่าจะมาชี้แจงด้วยตัวเองจะดีกว่า
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ พูดถึงการเชิญ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯวันพรุ่งนี้
โดยบอกว่า อยากให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่ถูกเชิญ พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่าการไม่มาหมายความว่า คุณไม่มีโอกาสในการชี้แจง แต่หากมา ก็แสดงว่ามั่นใจว่าสิ่งที่ทำเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร สส.รังสิมันต์ บอกว่า การชี้เเจงที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ไม่เคยทราบมาก่อน เช่น การพิจารณาใช้เวลาตัดสินใจเพียง 4 นาที , การที่ไม่มีแม้กระทั่งหมอที่มาดูอาการของนายทักษิณ แม้กรรมาธิการฯ จะให้คุณให้โทษกับนายทักษิณไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนายทักษิณเอง เพราะสังคมวิจารณ์เรื่องชั้น 14 เยอะมาก ถ้าทำให้สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีข้อวิจารณ์ต่อนายทักษิณและต่อรัฐบาลให้เบาลง การมาชี้แจงกรรมาธิการของนายทักษิณ ก็จะช่วยรัฐบาลได้
"ถ้ามั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ใช้บารมีเรื่องนี้ก็น่าจะจบ แต่วันนี้รัฐบาล ทำให้เรื่องชั้น 14 กลายเป็นเรื่องพิศวง กรรมาธิการฯประชุมมา 55 ครั้ง ไม่เคยได้รับบรรยากาศการพิจารณาที่ดูยากขนาดนี้มาก่อน"
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มองอย่างไรที่นายทักษิณ ระบุว่าน้องสาว คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับบ้านในวันสงกรานต์ปีหน้า สส.รังสิมันต์ บอกว่า เรื่องนี้ไม่อยากทำนายอะไรมาก เพราะเราอยู่บนพื้นฐานทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องรอดูตามข้อเท็จจริงว่าสุดท้ายแล้ว จะมีกลไกทางกฎหมายอย่างไร "ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์กลับมา ก็ต้องดูว่าใช้วิธีการอะไร หากมีการใช้วิธีพิสดารที่จะทำให้ตัวเองสามารถกลับประเทศได้ ก็คงเป็นวิธีการที่นายรังสิมันต์ใช้คำว่า "ไม่สามารถยอมรับได้"