เลือกตั้งและการเมือง

สื่อนอกจับตาการเมืองไทย หลังยุบก้าวไกล อัดคำตัดสินศาลรธน. ริดรอนเสรีภาพรุนแรง บั่นทอนปชต.

โดย panwilai_c

7 ส.ค. 2567

29 views

สถานการณ์การยุบพรรคก้าวไกลถูกจับตาจากทั่วโลกตลอดทั้งวัน ทั้งจากสำนักข่าวต่างประเทศ และ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ก็ขึ้นเป็นการรายงานข่าวด่วนทันที ขณะที่ในประเทศเองกลุ่มภาคประชาชนนิสิตนักศึกษา ก็ได้ออกมาแสดงความไว้อาลัยต่อระบอบประชาธิปไตยไทยและศาลรัฐธรรมนูญ



สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งรอยเตอร์ส / บีบีซี / ซีเอ็นเอ็น และ อัลจาซีร่า รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงคำวันิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทย ที่มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า นี่เป็นการยุบพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้ง และ มีที่นั่งมากที่สุด จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 รวมทั้งยังถูกขัดขวางไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล หลังชูประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสถาบัน ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้นับเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองสำคัญหลายพรรคของไทย ที่ไปพัวพันการกับต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม, กลุ่มเศรษฐีเก่า, และกลุ่มนายพล



สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลซ้ำรอยกับเหตุการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 จากการประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด สุดท้ายก็ถูกยุบพรรคเช่นกัน และมาจัดตั้งพรรคใหม่เป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งคำตัดสินเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงบนท้องถนน โดยมีแกนนำเป็นกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ และออกมาเคลื่อนไหวนานถึง 6 เดือน



ขณะที่เว็บไซต์ขององค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการตัดสินใจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และขัดต่อสิทธิมนุษยชน



นายเดโปรเซ มูเชนา ผู้อำนวยการอาวุโสของแอมเนสตี้ กล่าวว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย โดยการยุบพรรคเพียงแค่ต้องการปฏิรูปกฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่อสมาชิกสภาที่ทำหน้าที่เสนอกฎหมาย ซึ่งการคุกคามฝ่ายค้านทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง ในประเทศไทย แม้ไทยจะเคยให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลก ในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยการเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC



ขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยในช่วงค่ำที่ผ่านมาก็มีการนัดหมายทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่สกายวอร์ค แยกปทุมวัน กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นัดหมายทำกิจกรรมยืนไว้อาลัย ให้กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธณรมนูญเป็นเวลา 112 วินาที และ นำป้ายผ้ามาให้ประชาชนเขียนแสดงความคิดเห็น ก่อนจะอ่านแถลงการณ์ โดยมีใจความถึงกรณีการยุบพรรคในรอบ 20 ปี มีพรรคถูกยุบไปกว่า 110 พรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย



ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มนักศึกษาก็ได้ร่วมกันจุดเทียนไว้อาลัยให้กับศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีแถลงการณ์จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นใจความเดียวกันกับการชุมนุมที่สกายวอร์ค แยกปทุมวัน



กรณีนี้เป็นที่จับตาไปถึงเชียงใหม่ ที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลได้นัดรวมตัวกันที่ร้านโซลบาร์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการถ่ายทอดสดการพิจารณา ซึ่งผลที่ออกมาสร้างความไม่พอใจให้กับพวกเขา แต่ก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนพรรคที่เกิดขึ้นในนามพรรคใหม่ต่อไป เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ และมั่นใจว่าจะมีคนหนุนมากขึ้นกว่าเดิม



ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายแมทธิว มิลเลอร์ ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลถึงกรณีการยุบพรรคก้าวไกล และ การตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน โดยมองว่าคคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคน ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2566 ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตัวเองในประเทศได้จริงหรือไม่



นอกจากนี้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และ ขัดต่อความต้องการรวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน ขอเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก

คุณอาจสนใจ

Related News