เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' แถลงข้อต่อสู้คดียุบก้าวไกล ซัด กกต. 2 มาตรฐาน ชี้เหมือนส่งขึ้นทางด่วนไปศาล

โดย panwilai_c

30 มิ.ย. 2567

15 views

นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงคำชี้แจงต่อศาล รัฐธรรมนูญในคดี ยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุการกระทำของกกต. เหมือนส่ง "ก้าวไกล" ขึ้นทางด่วนไปศาล ที่สร้างเป็นระเบียบ 2 มาตรฐานขึ้นมา หากเทียบกับกรณีของพรรคประชาธิปัตย์



นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยเริ่มต้นการแถลงด้วยการย้อนดู และทบทวน 9 ข้อต่อสู้ของพรรคที่แถลงไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับคดีนี้



นายพิธา ระบุว่า กระบวนการในชั้น กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมองว่า กกต.กำลังทำให้กระบวนการยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน



บางพรรคใช้มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ขณะที่บางพรรคใช้มาตรา 93 ซึ่งหากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่ามาตรา 92 และ93 ไม่สามารถใช้แยกกรณีกันได้ โดยถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน ก็เปรียบได้กับการที่พรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน ส่วนพรรคอื่นไปทางธรรมดา เกิดการสร้าง 2 มาตรฐาน ในการยุบพรรคทันที



ดังนั้นไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการถ่วงดุล และเปิดโอกาสให้พรรคที่โดนร้องต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงและหลักฐานทางกฎหมายโดยเช่นกัน



ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 กกต. ได้ออกระเบียบการเลือกตั้งเกี่ยวกับมาตรา 92 และ 93 ขึ้นมา ซึ่งระบุว่าต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบข้อกล่าวหา และ โต้แย้งด้วยหลักฐานในชั้น กกต. ทำให้การบังคับใช้ไม่เหมือนกับกรณีพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ รวมถึงขัดกับระเบียบที่ กกต. เป็นผู้กำหนดเอง



ส่วนประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/67 ซึ่งเป็นคดีสั่งห้ามไม่ให้หาเสียง ไม่ผูกพันต่อการวินิจฉัยคดีนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละข้อหา นอกจากนี้ความหนักของโทษก็ยังแตกต่างกัน เพราะข้อหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นมาตราของรัฐธรรมนูญ แต่คดีปัจจุบันเป็นมาตราของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง



นายพิธา ได้โชว์ไทม์ไลน์ การต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจนถึงตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกตอบ 2 คำถาม คือ พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. หรือไม่ ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. และอีกคำถาม คือ การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/67 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ โดยให้เวลา 7 วัน เพื่อใช้นัดพิจารณาครั้งถัดไปในวันที่ 3 กรกฎาคม และนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 กรกฎาคม



นายพิธา ได้ตอบคำถามในข้อที่ 1 ว่า ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหา และโต้แย้ง ในชั้น กกต. ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสเรียกร้อง ให้ กกต. ทำตามกระบวนการ



หากเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้องเพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้วและเรื่องความบกพร่องทางขั้นตอนของ กกต.



ส่วนคำถามที่ 2 ของศาลรัฐธรรมนูญ นายพิธา ชี้แจงว่า ไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ ตามข้อกล่าวหาและเป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/67 ที่กล่าวหาว่า "ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ" เพียงอย่างเดียว



โดย ยืนยันว่าการกระทำของพรรคไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ และ กกต. ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหามาก่อน ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใหม่ และจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฏหมายเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น



ตอนนี้พรรคก้าวไกลได้ประเมินความเป็นไปได้ต่อจากนี้ไว้ในหลายฉากทัศน์ ซึ่งสิ่งการเปรียบเทียบกับคดี 15/53 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฉากทัศน์หนึ่งหรืออีกฉากทัศน์หนึ่ง คือเดินหน้าต่อเพื่อเกิดการไต่สวน



นอกจากนี้ นายพิธา ยังกล่าวถึง กรณีการเปรียบเทียบกับคดีที่มีการร้องป.ป.ช. เรื่องของจริยธรรมที่มี สส. ก้าวไกล 44 คน ที่ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ว่าส่วนตัว ยังเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตนาของพรรค ที่มีเจตนาดีกับระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดที่ผ่านมาล้วนมีคำอธิบายได้



การที่พรรคก้าวไกลประกันตัวเพราะเป็นสิทธิที่เป็นหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่พรรคมีส.ส. หรือ สมาชิกเป็น ผู้ต้องหามาตรา 112 ก็ต้องให้โอกาสเขาในการที่จะพิสูจน์ เพราะคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด

คุณอาจสนใจ

Related News