เลือกตั้งและการเมือง

กลุ่มหลากหลายทางเพศ จัดกิจกรรมฉลองผ่านร่างสมรสเท่าเทียม หลังต่อสู้กว่า 20 ปี

โดย panwilai_c

18 มิ.ย. 2567

36 views

กว่า 20 ปี ของการต่อสู้เรียกร้องเพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน วันนี้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้เฉลิมฉลองกันแล้ว เมื่อวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้านกลุ่ม LGBTQIAN+ ภาคประชาชน ได้เข้ามอบดอกไม้ให้ "สว.และ พรรคการเมือง" ที่ร่วมกันผลักดัน พรบ.ฉบับนี้ และ จัดแรลลี่เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่รอบกรุงเทพมหานคร



นี่เป็นบรรยากาศของการเดินแรลลี่ทั่วกรุงฉลองสมรสเท่าเทียม ของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ภายหลังวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นำโดย กลุ่มนฤมิตไพรด์ คณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม Celebration of Love กว่า 30 คน เคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย



โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การโยนช่อดอกไม้ของคู่รัก LGBTQIAN+ 6 คู่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง และเปิดป้ายโลโก้สมรสเท่าเทียมหรือสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการที่หอศิลป์



วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ เปิดเผยว่า ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ หลังจากที่นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ๆ สู้เรื่องการจัดตั้งครอบครัวมานานกว่า 20 ปี โดยวันนี้จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาว LGBTQIAN+ ได้ประกาศชัยชนะของสมรสเท่าเทียม ให้ทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย



ขณะที่วันนี้บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันของสายรุ้ง มีการปูพรมสายรุ้งยาวและกิจกรรมมากมาย โดยหลังการพิจารณาเสร็จสิ้น เครือข่าย LGBTQIAN+ ภาคประชาชนก็ได้มอบดอกไม้ให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อขอบคุณ



ซึ่งมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้เป็นตัวแทนรับช่อดอกไม้ และในนามกรรมาธิการ ได้ขอบคุณภาคประชาชนเป็นอย่างมาก ที่เป็นหลักในการให้ข้อมูล



สำหรับการโหวตของที่ประชุมวุฒิสภา ที่ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีมติเห็นชอบ 130 เสียง / ไม่เห็นชอบ 4 เสียง / และ งดออกเสียง 18 เสียง



โดยรายละเอียดสาระสำคัญ คือ การเปลี่ยนการหมั้นจากเดิมที่เป็นการกระทำระหว่างชาย และหญิงตามเพศกำเนิด เป็นทุกเพศสามารถหมั้นได้ โดยปรับจากอายุ 17 ปี เป็น 18 ปี ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ / เปลี่ยนจากการเรียกชายหญิงว่าสามีภรรยา เป็นคู่สมรส เพื่อให้สิทธิ หน้าที่และสวัสดิการเทียบเท่ากัน / การฟ้องหย่าและค่าทดแทน จากการหย่าให้ครอบคลุมและคุ้มครองทุกเพศ จากเดิมที่เพศเดียวกันไม่สามารถฟ้องกันได้ / คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทันที โดยไม่ต้องรอ 310 วันเพื่อจดทะเบียนสมรสใหม่ และคู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้



หลังร่างกฎหมายนี้ผ่านวุฒิสภา ก็จะเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากต้องให้เวลากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการใช้กฎหมายนี้

คุณอาจสนใจ

Related News