เลือกตั้งและการเมือง
เปิดเส้นทางชีวิตนักกิจกรรม 'บุ้ง ทะลุวัง' จากม็อบกปปส. สู่นักโทษ ม.112
โดย panwilai_c
14 พ.ค. 2567
169 views
บุ้ง ทะลุวัง เริ่มสนใจกิจกรรมตั้งแต่มัธยมปลาย จากครอบครัวที่สนับสนุน กปปส.สู่ความเห็นใจ คนเสื้อแดง และสุดท้ายตกผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จนเสียชีวิตในวันนี้
เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ซึ่งเสียชีวิตในวัย 28 ปีวันนี้ เกิดในครอบครัวนักกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม พ่อเป็นผู้พิพากษา และพี่สาวเป็นทนายความ สนใจกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย เป็นคณะกรรมการนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง หน้าที่คอยดูแลให้เพื่อนนักเรียนอยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์ เช่นเรื่องทรงผม
ต่อมาบุ้ง เข้าร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อเรียกร้องสิทธิของนักเรียน เช่นเรื่องการบังคับไว้ทรงผมนักเรียน จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง
ช่วงโควิด-19 บุ้ง เข้าร่วมกลุ่ม ไพร่ปากแจ๋ว เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีน mRNA ให้กลุ่มเด็กนักเรียน ก่อนเข้าร่วมกลุ่มทะลุวัง
ข้อมูลจากพี่สาวของบุ้ง ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีไทย ระบุว่าครอบครัวเคยเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฎิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิป ไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.เมื่อปี 2557
ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ บุ้ง ตาสว่าง พี่สาวระบุว่าคือเหตุการณ์ "Big Cleaning Day" กิจกรรมที่ชาว กทม. บางส่วนออกมาล้างทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือน พ.ค. 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคนเมื่อพบข้อมูลชุดใหม่แตกต่างจากความ
เชื่อเดิมยิ่งทำให้เธอรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดง เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นเสมือนกับการทำลายล้างหลักฐาน ที่จะอาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริง ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและให้ความเป็นธรรมต่อญาติผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต
และระหว่างศึกษาปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุ้งยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนะต่าง ๆ กับบรรดาเด็กนักเรียนที่เธอสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ยิ่งทำให้ขยายกลุ่มความคิดและเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เธอเชื่อว่า คนรุ่นใหม่คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคต
บุ้ง เคยลงชื่อในเอกสารมอบตัวเป็นผู้ปกครอง หยก นักกิจกรรมเยาวชนเพื่อให้สามารถกลับเข้าเรียน ในโรงเรียนตามปกติได้ แต่ไม่เกิดผล ปัจจุบัน หยก ยุติบทบาทนักกิจกรรมทางการเมืองแล้ว และกลับไปศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน
จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า บุ้ง ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 7 เป็นคดี ม.112 สองคดี เคยถูกสั่งถอนประกัน 2 ครั้ง
ครั้งล่าสุดศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งถอนประกันเมื่อ 26 มกราคม 2567 หลังจากพนักงานสอบสวนยื่นถอนประกันตัว บุ้ง จากกรณีประท้วงเรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ ที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 และในวันนั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก บุ้ง เป็นเวลา 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล และการอดอาหารครั้งสุดท้ายของ บุ้ง ก่อนเสียชีวิตเริ่มมาจากวันที่ 27 มกราคม 2567