เลือกตั้งและการเมือง
เลขาฯกฤษฎีกา แจงไม่ได้บอกไฟเขียวกู้ 5 แสนล้าน แค่ให้ความเห็นข้อกม.
โดย panwilai_c
9 ม.ค. 2567
22 views
เรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังเป็นประเด็นสังคมจับตาใกล้ชิด หลังจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นกลับคืนมาให้รัฐบาลแล้วพร้อมข้อเสนอแนะทางกฎหมาย ล่าสุดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่าโครงการ แจกเงินดิจิทัลยังไปต่อได้ โดยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่าความเห็นที่ส่งกลับมาให้กระทรวงการคลัง เป็นมิติทางกฎหมาย และข้อเสนอแนะ ไม่ได้หมายถึงไฟเขียวให้โครงการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุมครม.ยังไม่มีการพิจารณา ถึงร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อน นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกำลังจัดหาเวลาเพื่อหารือ
นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอบกลับกระทรวงการคลัง ที่หารือเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง พูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงิน ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
ส่วนกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย และระบุว่า มั่นใจว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน แต่ต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน
ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่ากฤษฎีกาได้ส่งความเห็นให้รัฐบาลแล้ว แต่ความเห็นดังกล่าวต้องนำไป เข้าคณะกรรมการ ดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ก่อน และต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด แต่ในความเห็นไม่มีคำว่าไฟเขียว ตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว เพราะกฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย เป็นเงื่อนไขของกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 53 ว่ามีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขบอกว่า ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องใช้ ในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาดูกันต่อไปว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่
นายปกรณ์ยังระบุว่าตามมาตรา 53 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ระบุไว้ว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็นพ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.มันก็เป็นกฎหมายเหมือนกัน และในการตอบกลับก็ไม่มีข้อเสนอแนะอื่นใด ที่มากไปกว่าการอธิบายมาตรา 53 แล้วบอกว่าควรต้องรับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีข้อมูลประจักษ์ยืนยันได้
และตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้ได้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าการันตีหรือไม่ถ้าหากทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์ ยืนยันว่าถ้าทำตามปลอดภัยแน่นอน และหากทำตามเงื่อนไขก็จะไม่มีปัญหาอะไร