เลือกตั้งและการเมือง

'วันนอร์' เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้ หลังศาลรธน.ตีตก ปมห้ามเสนอชื่อซ้ำ

โดย panwilai_c

16 ส.ค. 2566

64 views

วันนี้ (16 ส.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ปมห้ามเสนอชื่อซ้ำ ในการโหวตนายกฯ เนื่องจาก ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการยื่นคำร้องซ้ำ เพราะมองว่าเป็นเรื่องในสภาก็ควรแก้กันในสภา



ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคดีที่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ว่า กรณีรัฐสภามีมติตีความ ว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ซึ่งมีการตีความว่าห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่



ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน 4 ส่วน คือ

1.รองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา

2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ชเลธร

ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตของพรรคก้าวไกล

3.นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส. พรรคก้าวไกล และคณะ ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จำนวน 17 คน

4.ผู้ร้องเรียนเพิ่มเติมอีก 13 คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง



รวมมีผู้ร้องทั้งหมด 33 คน โดยผู้ร้องเรียนทุกคนกล่าวอ้างว่า การที่รัฐสภามีมติ ห้ามเสนอชื่อซ้ำในการโหวตนายกฯ เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทุกคน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีความเห็นโดยสรุป คือบุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาสรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง



ส่วนกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้เท่านั้น ดังนั้นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนออันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล



ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213



ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย นั่นเท่ากับว่า มตินี้ของศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งผลให้ยังไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำให้ที่ประชุมโหวตได้ตามเดิม เช่น กรณีของนายพิธา ก็ไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีก ขณะเดียวกันหากนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อครั้งแรกไม่ผ่าน ก็จะไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีกเช่นกัน



ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของสภาดังนั้นก็ควรแก้ที่สภา ตามที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ยื่นญัตติหารือต่อที่ประชุมไปแล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของตัวเองหากประธานสภาแจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลง ก็คงสามารถไปต่อได้



ส่วนกรณีมติที่ตีตก เนื่องจากเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ผู้ที่มาร้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง นายพิธา ระบุว่า จะไม่ยื่นร้อง โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องของนิติบัญญัติก็ควรอยู่ที่นิติบัญญัติ



ส่วนกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ยื่นขอขยายเวลาระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่สอง กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือไม่ ทางศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอออกไปอีก 30 วัน ซึ่งนายพิธาเองก็ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ล้มล้างการปกครองตามที่มีการถูกกล่าวหา



ความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ ล่าสุดนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้กำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ด้านพรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคที่ได้รับเชิญร่วมรัฐบาลก็ยืนยันว่าต้องมีการตกลงเก้าอี้รัฐมนตรีให้จบก่อนวันโหวต ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าไม่เคยคิดร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย



นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผยวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงถือว่าสิ่งที่รัฐสภาประชุมไปนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อดูรายละเอียดในวันที่ 18 สิงหาคมนี้



ส่วนญัตติของนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกลที่ขอให้มีการทบทวนทติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม กรณีไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวจะยังคงอยู่ และจะมีการนำมาหารือในที่ประชุม แต่การดำเนินการต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ



ด้านความเคลื่อนไหวของฝั่งพรรคการเมืองวันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่ากระแสข่าวลือเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัวไม่เป็นความจริง ซึ่งโควต้า 4+4 ของพรรคภูมิใจไทย เป็นเพียงการพูดคุยแต่ยังไม่จริงจัง เพราะยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนจะเป็นกระทรวงเดิมคือกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ นายอนุทินก็บอกว่าหากเป็นกระทรวงเดิมก็มีความต่อเนื่อง แต่ไม่ควรตั้งข้อจำกัด ควรคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งมองว่าควรจะคุยให้จบก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีทีท่าใดๆ แต่ก็คาดว่าจะมีการนัดคุยกันในช่วง2-3 วันนี้ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยต้องการดูแล กระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดคงจะต้องไปพูดคุยกัน



ด้านพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ที่ประชุมยังไม่มีการพูดตุยถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ ต้องรอความชัดเจนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนมีการทาบทามจากพรรคเพื่อไทยแล้วหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีแนวทางที่จะไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดว่าจะไปร่วมรัฐบาลด้วย จึงไม่มีการมอบหมายใครให้ไปเจรจา หากจำเป็นต้องเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกลก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์แล้วทั้ง 2 ฝ่าย และจะทำหน้าที่ให้เต็มกำลังความสามารถ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

คุณอาจสนใจ

Related News