เลือกตั้งและการเมือง

'ก้าวไกล' ค้าน ปรับเกณฑ์ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' จี้รัฐบาลใหม่ทบทวน ชี้สวัสดิการควรจะเป็นสิทธิ์ของทุกคน

โดย panisa_p

14 ส.ค. 2566

46 views

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเรื่อง "หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566" ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยชราอยู่แล้ว ยังคงได้รับเหมือนเดิม แต่ผู้สูงอายุใหม่ จะต้องเข้ารับการพิจารณาความยากจน จากคุณกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นการตัดสิทธิผู้เข้าเกณฑ์ หายไปกว่าครึ่ง ซึ่งมองว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ ด้านรองโฆษกรัฐบาล ยืนยันว่าทำเพื่อความมั่นคงทางด้านงบประมาณในระยะยาว



หลักเกณฑ์ใหม่มีเงื่อนไขให้ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ต่างจากเดิมที่ทุกคนจะได้รับทันทีเมื่ออายุเข้าเกณฑ์ 60 ปี และจะปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ



นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุว่า เรื่องนี้ทางพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย เพราะสวัสดิการควรจะเป็นสิทธิ์ของทุกคน ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องมาพิสูจน์ความจน การปรับนโยบายเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบคนจำนวนมาก ไม่ควรทำในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ส่วนตัวคิดว่าเมื่อรัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะต้องเร่งทบทวนเรื่องนี้



เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็คัดค้าน การที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และไปตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล จึงมองว่านี่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดนั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่สิทธิต่างๆ เหล่านี้ เป็นสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว



แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็น จนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ที่หากอยากได้เงินเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ



นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า

การดำเนินการเรื่องนี้มีการพิจารณามาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่ "ลักไก่" ทำในช่วงรัฐบาลรักษาการ และไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน หรือ " รัฐบาลถังแตก" เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่เป็นการทำเพื่อความมั่นคงทางการคลังระยะยาว ไม่ใช่ทำเพื่อรัฐบาลนี้ แต่ทำเพื่อรัฐบาลต่อ ๆ ไปด้วย



ส่วนประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รองโฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้งบประมาณที่เคยตั้งไว้สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้นทุกปี จาก 5 หมื่นล้านต่อปี ในปีงบประมาณ 2567 เป็น 9 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนมากกว่า

คุณอาจสนใจ

Related News