เลือกตั้งและการเมือง
ก้าวไกล-เป็นธรรม ชงสภาฯแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ผลจากการสู้รบในเมียนมา
โดย panwilai_c
10 ส.ค. 2566
111 views
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้มีการเสนอปัญหาสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในสองประเด็นสำคัญ ทั้งปัญหาสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ที่จากกรณีล่าสุดในรัฐคะเรนนี 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยเกือบ 1 หมื่นคน
โดยวันนี้ สส.พรรคเป็นธรรม ขอหารือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 1 ล้านคน และอีกกว่า 3 แสนคน ที่รออพยพเข้าไทย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ
ขณะที่ สส.พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอญัตติการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย หลังเกิดกรณีการผลักดันเด็ก 126 คน จากโรงเรียนในจังหวัดอ่างทองให้กลับเมียนมา
ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน รายงานสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา พื้นที่รัฐคะเรนนี ยังคงเฝ้าระวังปฎิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา ซึ่งผ่านมา 61 วัน หรือ 2 เดือนแล้ว ที่ทำให้มีผู้หนีภัยการสู้รบจากรัฐคะเรนนีมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เปิดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่ง ดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจำนวน 9,059 คน ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน จนถึงวันนี้ หน่วยงานของไทยทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สภากาชาดไทย ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งการสร้างที่พักพิง ระบบสาธารณสุข และอาหารสิ่งของบริจาค และองค์กรระหว่างประเทศอย่าง MI และ unhcr ช่วยจัดการบันทึกประวัติของผู้หนีภัย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นชายแดนไทยเมียนมา จากกรณีล่าสุดในรอบ 2 เดือนที่รัฐคะเรนนี กับ 2 ปีก่อนหน้าที่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ส่งผลให้เครือข่ายภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราฎรและพรรคการเมืองเสนอมาตรการเร่งด่วนคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยนายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม เป็นพรรคแรกที่นำมาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยชี้ให้เห็นผลกระทบหลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นในเมียนมา มากกว่า 1 ล้านคนแล้ว และกว่า 3 แสนคนที่อยู่ตามแนวชายแดนรออพยพมากไทยหากสถานการณ์ถึงที่สุด รวมถึงเกือบ 1 หมื่นคนที่เข้ามาแล้วและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย 5 แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวนเกือบ 1 หมื่นคน และเชื่อว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยเมียนมาเข้ามาไทยแล้วกว่า 2 หมื่นคน
ปัญหาหลักมาจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ส่งผลกระทบทั้งชาวเมียนมา และไทย กว่า 100 เหตุการณ์ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีของไทย ใช้บทบาทในการแก้ปัญหาทั้งระดับทวิภาคี เจรจากับเมียนมาให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ safty zone ให้เมียนมา ยุติปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ 5 กิโลเมตร จากชายแดนไทยจะทำให้คนไทยปลอดภัยและผู้ลี้ภัยที่รอเข้าไทย ก็จะมีพื้นที่ปลอดภัย โดยยังไม่อพยพด้วย ซึ่งไทยแสดงบทบาทนี้ได้ รวมถึงในระดับพหุภาคที่ใช้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ในการเสนอเรื่องนี้
ส่วนการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยต้องการเปิดประตูมนุษยธรรม humanitarian Corridor โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถเรียกประชุมองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ขอหารือในการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนได้ และไทยจำเป็นต้องหามาตรการรองรับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อในเมียนมาด้วย
นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เตรียมญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสําหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย จากกรณีเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่มาศึกษาในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทอง 126 คน ต้องผลักดันออกนอกประเทศ ขาดสิทธิการศึกษา ทั้งๆที่สามารถใช้สิทธิการเป็นนักเรียนรหัส g-code ได้
จึงเตรียมผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาการศึกษาให้กับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์กว่า 3 แสนคนให้เข้าถึงการศึกษา ได้รับรหัส g แค่ 1 แสนคนเท่านั้น
นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้ำว่า จะต้องเสนอเรื่องนี้เป็นญัตติในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลยึดความเท่าเทียมบนหลักบนสิทธิมนุษยชน คนไร้สถานะเป็นประเด็นหนึ่งที่มีปัญหา และต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการศึกษาที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะสัญชาติได้ต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม