เลือกตั้งและการเมือง

'สมชัย' เปิด 3 แนวทาง พิจารณา 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี ชี้คลิปประชุมเป็นเพียง 1 ในหลักฐาน

โดย panwilai_c

13 มิ.ย. 2566

330 views

ประเด็นหุ้นไอทีวี ที่วันนี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต.ในการพิจารณาการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผิดตามมาตรา 151 ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ โดยนำหลักฐานการโอนหุ้น และงบการเงินล่าสุดของบริษัทไอทีวี ยื่นต่อ กกต. ซึ่งจะทำให้มี 3 แนวทาง ในการพิจารณาคดีนี้ ส่วนหลักฐานคลิปบันทึกการประชุม แม้นายเรืองไกร เห็นว่าไม่ได้เป็นหลักฐานสำคัญ แต่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องกระบวนการกลับมาดำเนินกิจการสื่อ ก็เป็นประเด็นที่มีการตรวจสอบด้วย



นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นำหลักฐานเพิ่มเติมให้ กกต. กรณีการถือหุ้น บริษัทไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกอบการพิจารณา ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเป็นเอกสาร การโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผ่านบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ให้ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ จำนวน 42,000 หุ้น เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 และหลักฐานหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทไอทีวี ว่ามีการให้บริการลงสื่อโฆษณา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งนายเรืองไกร เชื่อมั่นว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่านายพิธา ถือหุ้นไอทีวี อยู่จริงก่อนวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 4 เมษายน และบริษัทไอทีวี มีการประกอบธุรกิจสื่อ ก็จะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัคร ส.ส.



นายเรืองไกร เชื่อมั่นว่าหลักฐานที่ได้ยื่นกับ กกต.ไปทั้งหมดก่อนหน้านี้จะเป็นหลักฐานสำคัญ แม้จะมีการปล่อยคลิปบันทึกการประชุมไม่ตรงกับเอกสารบันทึการปชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายความผิดในการถือหุ้นสื่อเปลี่ยนไป พร้อมยืนยันว่า การยื่นสอบนายพิธา ไม่ใช่กระบวนการปลุกผีไอทีวี เพราะดำเนินการเรื่องนี้เพียงคนเดียว ซึ่งหาก กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ให้นายพิธา เป็น ส.ส.ก็จะมายื่นร้องเรียนอีก



เมื่อพิจารณาตามข้อกฏหมายมาตรา 151 กฏหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุว่า หากรู้ว่าขาดคุณคุณสมบัติเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือรู้อยู่แล้วว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมือง เสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนดถึง 20 ปี โดยอดีต กกต. เห็นว่า จากหลักฐานการโอนหุ้นของนายพิธา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 และหลักฐานแสดงงบการเงินการประกอบธุรกิจ สื่อ ทำให้มองเห็นแนวทางพิจารณาคดี ได้ 3 แนวทาง จากหลักฐานโอนหุ้น ที่แสดงให้เห็นถึงการรับว่าหุ้นอยู่จริง จึงต้องพิสูจน์ ต่อไปว่า เป็นหุ้นสื่อหรือไม่ หากเป็นหุ้นสื่อ ก็ต้องดูว่าผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่



รศ.สมชัย ยอมรับว่า หลักฐานคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ไมตรงกับเอกสารบันทึกการประชุม หากพิสูจน์ได้ว่าไอทีวียังไม่ดำเนินการใดๆจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามที่ผู้บริหารไอทีวีระบุ แต่ยังตรวจสอบหลักฐานอื่นๆ เช่นงบการเงินที่นำมาแสดง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังวันประชุมผู้ถือหุ้น ว่าเป็นการดำเนินกิจการจริงหรือไม่





นอกจากนี้ การตัดสินว่า ไอทีวีเป็นหุ้นสื่อหรือไม่ เพื่อให้เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 ของกฏหมายเลือกตั้ง ยังเป็นความท้าทายของกกต.ว่าจะตัดสินไปเอง หรือจะรอให้มีการรับรอง ส.ส.แล้วให้ ส.ส.เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า มีความผิดหรือไม่ในภายหลัง



ข่าว 3 มิติได้ตรวจสอบหลังฐานการยื่นคำร้องของนายเรืองไกร ทั้ง 8 ครั้งที่ ผ่านมาพบว่า การได้มาซึ่งเอกสารว่าไอทีวียังดำเนินกิจการอยู่ มีความสอดคล้องกับช่วงเวลา เช่นในการยื่นคำร้องครั้งแรกวันที่ 10 พฤษภาคม นายเรืองไกร ได้ยื่นข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ยืนยันสถานการดำเนินกิจการ กิจกรรมเผยแพร่ภาพยนต์วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ โดยเป็นข้อมูลในวันที่ 6 พฤษภาคม เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพิสูจน์ว่า ก่อนที่นายพิธา จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 4 เมษายน บริษัทไอทีวีที่นายพิธา มีหุ้นอยู่นั้น ประกอบกิจการสื่อจริงหรือไม่ 

คุณอาจสนใจ

Related News