เลือกตั้งและการเมือง

เปิดไทม์ไลน์การยื่นคำร้อง 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี 'เรืองไกร' จ่อยื่นคำร้องที่ 8

โดย panwilai_c

9 มิ.ย. 2566

492 views

ไทม์ไลน์การยื่นคำร้องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เตรียมยื่นคำร้องที่ 8 ต่อ กกต.ในสัปดาห์หน้า กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา แม้นายพิธา ชี้แจงว่าได้โอนหุ้นให้ทายาทไปแล้ว และยืนยันว่า การตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังทางการเมือง และไม่ได้ร่วมสมคบคิดในการฟื้นคืนชีพสื่อไอทีวี ตามที่มีการวิจารณ์ และไม่ได้รู้จักกับอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมาตั้งคำถามการถือหุ้นไอทีวีเป็นคนแรก ในขณะที่ข่าว 3 มิติ ตรวจสอบไทม์ไลน์การยื่นร้องปมถือหุ้นไอทีวี กับ ไทม์ไลน์ การดำเนินกิจการของไอทีวี เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า ไอทีวียัง ประกอบกิจการสื่อมวลชน ที่เข้าข่ายการขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่



นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะผู้ร้องคดีการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ไม่รู้จัก นายนิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นผู้ตั้งคำถามการถือหุ้นไอทีวีของนักการเมืองเป็นคนแรก และแม้การยื่นร้องต่อ กกต.เพราะได้ข้อมูลมาจากเพื่อนนักการเมือง แต่ได้มาสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง เพราะเป็นนักตรวจสอบมาทุกสมัย ไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐด้วย เพราะวันที่ยื่นต่อ กกต.ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน ไม่มีใครรู้ว่าพรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งอันดับ 1 และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเป็นว่าที่นายกรัฐมตรี และไม่ใช่การสมคบคิดให้ไอทีวีฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นสื่อเพื่อยืนยันว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส. เพราะไอทีวียังคงดำเนินกิจการ รักษาสถานะเพื่อต่อสู้คดีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ถูกยกเลิกสัมปทานเมื่อปี 2550



สำหรับไทม์ไลน์ในการยื่นร้องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นต่อ ประธาน ปปช.ขอให้ตรวจสอบว่านายพิธา ในฐานะ ส.ส.ได้แจ้งเงินลงทุนในไอทีวี 42,000 หุ้น ต่อ ปปช.กรณีการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 และหลังพ้นตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 หรือไม่ ก่อนยื่นคำร้องต่อ ประธาน กกต.ให้ตรวจสอบว่าการมีหุ้นไอทีวีของนายพิธา เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ และในวันที่ 11 พ.ค.ยื่นว่าเข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกลและหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถัดมาในวันที่ 13 พ.ค.ยื่นต่อ ประธาน กกต.ให้ตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามเป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่อมาในวันที่ 16 พ.ค.และ 24 พ.ค. ยื่นให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีขณะลงรับสมัคร สส.และยินยอมให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามหรือไม่ และส่งเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 6 มิถุนายน ภายใต้ข้อมูลที่นายเรืองไกร ระบุว่าไอทีวียังประกอบกิจการสื่อ



ในขณะที่ก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายน 2 วัน ก่อนจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี 26 เมษายน 2566 นายนิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความถึงนักการเมืองที่ถือหุ้นไอทีวี โดยระบุว่าหัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น



และในบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัทไอทีวี พบว่า นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ได้สอบถามว่า บริษัทไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดยผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ ซึ่งต่อมามีการรายงานข่าวว่า นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มีความใกล้ชิดกับนายนิกม์ โดยนายนิกม์ เตรียมชี้แจงกรณีนี้กับข่าว 3 มิติ



ส่วนการสอบถามถึงสถานะบริษัทไอทีวี ว่ายังเป็นสื่อหรือไม่ เกิดขึ้นหลังวันรับสมัครเลือกตั้ง และการประชุมผู้ถือหุ้นมีขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ นายเเรืองไกร ก็ได้ยื่นร้อง ต่อปปช. โดยยืนยันข้อมูลการถือหุ้นของนายพิธา ต่อจากบิดาในปี 2551-2566 ในทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่ได้เขียนว่าเป็นผู้จัดการมรดก และระหว่างนั้นนายพิธา มีการเปลี่ยนที่อยู่ 3 ครั้ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้ว่ามีหุ้นไอทีวี



นายเรืองไกร เปิดเผยว่า จะยื่นคำร้องที่ 8 ต่อ กกต.ในสัปดาห์หน้ากรณีนายพิธา ระบุว่าได้โอนหุ้นว่าด้วยการสละมรดกด้วยการถือหุ้นของนายพิธา กับการประกอบธุรกิจสื่อของบริษัท ไอทีวี ยังเป็นคำถามที่ผู้ถือหุ้นไอทีวีรายอื่น มีความเป็นห่วงด้วยว่าจะกระทบกับการพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ผู้ถือหุ้นไอทีวีรอคอยความเป็นธรรมมากว่า 16 ปี และมีรายงานว่าในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา มีการสอบถามถึงเรื่องนี้เพื่อให้ได้คำตอบว่า ไอทีวียังเป็นสื่อหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News