เลือกตั้งและการเมือง

ก้าวไกล จี้ ก.ต.สอบวินัยผู้พิพากษาศาล ปมเร่งรัดคดีม.112 ว่าที่ส.ส. โดยไม่มีทนาย

โดย panwilai_c

2 มิ.ย. 2566

117 views

ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ให้ตรวจสอบทางวินัยผู้พิพากษาศาลอาญาที่เร่งรัดเลื่อนนัดสืบพยานคดีอาญามาตรา 112 ให้เร็วขึ้น ทำให้จำเลยไม่มีทนายความระหว่างการสืบพยาน ผู้ร้องจึงขอให้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พิจารณาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นไปโดยชอบหรือไม่



วันนี้ที่ศาลอาญา นางสาว ชลธิชา แจ้งเร็ว และนาย รังสิมันต์ โรม พร้อมด้วย นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ขอให้ตรวจสอบทางวินัยผู้พิพากษาศาลอาญาที่เร่งรัดคดีอาญามาตรา 112 ที่ นางสาว ชลธิชา ตกเป็นจำเลย และการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้นจากเดิมที่เคยนัดหมายไว้ ทำให้จำเลยไม่มีทนายความร่วมว่าความอยู่ในการพิจารณาคดี



สำหรับคดีนี้นางสาวชลธิชา ให้ข้อมูลว่ามีจุดเริ่มต้นจากการถูกแจ้งข้อหา ม.112 กรณีที่เธอเขียนจดหมายถึงสถาบันฯ และเมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาศาลได้มีการนัดพร้อมคดีความครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 และได้มีการตกลงเจรจากับโจทก์คืออัยการและผู้พิพากษาว่าจะมีการนัดสืบพยานในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้เหตุผลว่าทนายความมีภารกิจต้องว่าความคดี 112 หลายคดี



ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคมปี 2565 เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาสอบถามทนายความของเธอว่าในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2566 มีวันว่างหรือไม่ ศาลต้องการนัดสืบพยานโดยเป็นการเลื่อนนัดมาให้เร็วขึ้น

ทนายจำเลยได้แจ้งว่าไม่ว่างเนื่องจากติดภารกิจของการสืบพยานที่ศาลอื่น



จนกระทั่งเมื่อวานนี้ เธอเดินทางมาที่ศาลเพื่อขอยื่นการเลื่อนนัดสืบพยานอีกครั้งแต่นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาในคดีไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยาน ทำให้เธอไม่มีทนายความระหว่างการสืบพยาน



ด้านนายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. เพื่อให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ น.ส.ชลธิชา ตกเป็นจำเลย โดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น จนไม่มีทนายความจำเลย ร่วมฟังการสืบพยานโจทก์เมื่อวานนี้ในประเด็นที่ น.ส.ชลธิชา ระบุว่า ในการสืบพยานจำเลย ไม่มีทนายจำเลยร่วมรับฟังการสืบพยานภายในห้องพิจารณาคดี นั้น โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก



แต่สิทธิ์ในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้านตรงนี้ ก็มี 2 ส่วนคือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของตัวความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือ จำเลย ก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้เองอยู่แล้ว เพราะทนายก็เป็นตัวแทนของตัวความ ก็คือโจทก์ จำเลย เพราะฉะนั้น สิทธิ์ในการถาม ก็เป็นสิทธิ์ในตัวความอยู่แล้ว



นายสรวิศ ยังกล่าวอีกว่า ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวานที่ผ่านมา มีการอัดเทป หรือ วิดีโอ ไว้ด้วย ซึ่งศาลก็ได้มีการถามเหมือนกันว่า หากทนายจำเลย ไม่ว่างในวันดังกล่าว ก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอ ที่บันทึกไว้ เพื่อขอถามค้านในวันอื่น ได้ แต่ปรากฏว่า น.ส.ชลธิชา ก็โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการพิจารณาไม่ชอบ จึงแจ้งต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้



ส่วนการยื่นหนังสือถึง ก.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษา นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และถือเป็นเรื่องปกติ ที่ว่า หากคู่ความคนใด เห็นว่า ตนเองอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ เหมาะสม ก็ ยื่นเรื่องให้พิจารณาได้อยู่แล้ว แต่ว่าสุดท้าย การพิจารณา จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น



ล่าสุด รณกรณ์ บุญมี โพสต์เฟซบุ๊กถึง นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ด้วยความเคารพว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยแถลงในกระบวนพิจารณาคือทนายความ "ทั้งสองคน" ติดสืบพยานในคดีอื่นที่นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว และแจ้งศาลแล้วว่าวันนัดที่ศาลปรับวันนั้นทนาย "ทั้งสองคน" ไม่ว่าง ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นตามที่จำเลยแถลงจริงจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ทางอาจารย์ได้ชี้แจงว่าทนายอีกคนยังว่างและสามารถมาทำหน้าที่แทนได้ นี้เป็นประเด็นที่ควรเป็นที่ยุติก่อน เพื่อจะได้วินิจฉัยเรื่องอื่นต่อไปได้



อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เมื่อคนที่ไม่มาคือทนายความไม่ใช่ตัวจำเลย การที่ศาลให้โจทก์สืบพยานไปก่อน ทั้งที่จำเลยไม่มีทนายความ และให้จำเลยถามค้านเอง ไม่ต่างอะไรเลยกับการปล่อยให้จำเลยลงต่อสู้กับคู่ต่อสู้ครบมือทั้งที่ตัวเองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ไม่มีเกราะ เป็นการโยนหลักการเบื้องหลังมาตรา 173 ทิ้งลง และใช้เป็นเพียงแบบพิธีว่าจำเลยมีทนายความเพียงแต่ในนามก็เพียงพอ การอธิบายว่า "ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย" เป็นการอธิบายแบบถูกต้องตามตัวอักษร และละเลยหลักการเบื้องหลังของกฎหมาย



โดยช่วงท้ายของการโพสต์ข้อความระบุว่า หลักการในวิธีพิจารณาความอาญาที่พวกเราเล่าเรียนมามันมีที่มาที่ไป มีวัตถุประสงค์อย่างไร เพราะหากเราปฏิบัติราวกับว่ามันเป็นเพียงแบบพิธีที่ทำตามตัวอักษรเท่านั้น ความน่าเชื่อถือ และความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมก็ย่อมจะลดลงและสูญหายตามไปด้วย



สำหรับ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุดได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ

Related News