เลือกตั้งและการเมือง

19 ปี ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จุดเริ่มต้น เหตุรุนแรงชายแดนใต้

โดย attayuth_b

4 ม.ค. 2566

143 views

วันนี้ เป็นวันครบรอบ 19 ปีเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกว่า 2 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิต กว่า 7 พันราย บาดเจ็บกว่า 1 หมื่น 3 พันราย รัฐใช้งบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท นักวิชาการ พบว่า เหตุรุนแรงลดลง แต่การแก้ปัญหาไม่คืบหน้า โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินมา 10 ปี ควรต้องบรรลุข้อตกลงหยุดยิงให้ได้


กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ชื่อเดิม ค่ายปิเหล็ง กองพันพัฒนาที่ 4 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดย พ.อ.ยุทธนา สายประเสริฐ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 นำเจ้าหน้าที่ทหารทำบุญ 2 ศาสนา ตักบาตพระสงฆ์ และประกอบพิธีละหมาดฮาญัติพร้อมดุอา อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากจากปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารประจำคลังอาวุธปืนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ประกอบด้วย จ.ส.อ.เสนาะ อินทวิรัตน์ จ.ส.อ.ประพันธ์ ติ้งเพ็ง จ.ส.อ.จำแลง พูลสวัสดิ์ และ จ.ส.อ.สุรินทร์ กาจนะ ซึ่งปล้นปืนไป 413 กระบอก จนกลายเป็นปฐมบทความรุนแรงรอบใหม่ ที่ถูกเรียกว่าเป็นเสียงปืนแตก


ตั้งแต่วันนั้นผ่านมา 19 ปี มีเหตุรุนแรงทั้งเหตุยิง ระเบิด เผา และก่อวินาศกรรม จำนวน 21,815 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 7,431 คน บาดเจ็บ 13,811 คน


จากการรวบรวมสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่าในปี 2565 มีเหตุน้อยลงกว่าปี 2564 แต่ในปี 2663 จากสถานการณ์โควิด-19 และ BRN ประกาศหยุดปฏิบัติการ ส่วนเหตุสูงสุดพบในปี 2550 มี 2,306 เหตุ และปี 2555 มี 1,950 เหตุกาณ์ และลดลงตามลำดับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ


ซึ่งหากดูจากเหตุรุนแรงลดลงในระดับที่น่าพอใจ 50 % แต่ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นและการแก้ปัญหาในภาพรวมยังไม่พอกับมาตรการที่แก้ปัญหา โดยเฉพาะการใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท ใน 19 ปีที่ผ่านมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แล้วยังไม่สามารถลดเหตุรุนแรงได้แสดงว่ายายังไม่ถึง


การใช้งบประมาณสะสม ตั้งแต่ ปี 2547-2566 จำนวน 513,284 ล้านบาท จากปี 2547 ที่ใช้ไป 13,451 ล้านบาทเริ่มสูงในปี 2557 แลละมากถึง 40,623 ล้านบาท ในปี 2561 สะท้อนถึงการใช้งบประมาณสูงมากเฉลี่ย 35,000 ล้านบาทต่อปี จึงต้องตั้งคำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ แม้ตั้งแต่ปี 2556 ที่เริ่มมีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งต่อเนื่องมาครบ 10 ปี แต่ก็ยังไม่คืบหน้า จึงคาดหวังว่าภายในปีนี้ก่อนจะครบ 20 ปีในปี 2567 อย่างน้อยการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งยังคงเป็นทางออกหลัก จะเดินไปสู่การบรรลุข้อตกลงในการหยุดยิง


จากกรอบการพูดคุย 3 แนวทาง ที่ต้องพัฒนาไปสู่การปรึกษาหารือที่ต้องมีส่วนร่วมและนำไปสู่การเจรจาทางการเมือง ที่ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในการปกครองพิเศษ เพราะจากการเข้าร่วมเป็นคู่พูดคุยของขบวนการ brn ที่แม้จะยังมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดน แต่ล่าสุดที่ยอมรับการพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ก็หมายถึงการเปิดทางสู่การพูดคุยไปสู่รูปแบบการปกครองที่เหมาะสม


อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ ก็เชื่อมั่นเช่นกันว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพ เป็นทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจต้องใช้เวลา และคาดหวังว่าในปีนี้จะเดินหน้าไปสู่ข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งจากการติดตามแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆที่รัฐไทยต้องหาวิธีการในการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เช่นเดียวกับสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแแดนใต้ และ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เห็นตรงกันว่าหากภายในปีนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่เดินหน้า รัฐไทยต้องทบทวนโครงสร้างการพุดคุยให้เปิดกว้างขึ้นและรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้


ส่วนความคืบหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยยังเป็นชุดเดิมโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้า ส่วนฝ่ายบีอร์เอ็นก็ยังเป็นชุดเดิม ส่วนผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย จะมีการเปลี่ยนตัวหลังเปลี่ยนรัฐบาล แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

คุณอาจสนใจ