เลือกตั้งและการเมือง

ศาล รธน.นัดพิจารณา วาระ 8 ปีนายกฯ 14 ก.ย. นี้ หลังฝ่ายค้านยื่นเอกสารเพิ่ม

โดย panwilai_c

8 ก.ย. 2565

113 views

การประชุมนัดพิเศษของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ ให้ขอเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เนื่องจากมีความเห็นที่ขัดแย้งกันทั้งของนายมีชัย ฤชุพันธ์ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนัดประชุมครั้งต่อไป วันที่ 14 กันยายน



การประชุมวันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจาณา เอกสารหลักฐาน และคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ของพลเอกประยุทธ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว จึงมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 501 เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข และให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 13 กันยายน และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 กันยายนนี้



สำหรับบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 มีการบันทึกบทสนทนา ระหว่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อครั้งเป็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เมื่อครั้งเป็นรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ตั้งคำถามต่อที่ประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายกรัฐมนตรี ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่



โดย นายสุพจน์ ไข่มุกด์ แสดงความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย



ขณะที่นายมีชัย ได้แสดงความเห็น ว่าเมื่อพิจารณาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรคหนึ่ง แล้ว การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ก็สามารถนับรวมระยะเวลา ดังกล่าวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี



แต่ในกรณีมีเอกสารหลุดที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัย ต่อศาลรัฐธรรมนุญ กลับระบุว่า เอกสารบันทึกการประชุมดังกล่าวมีความไม่สมบูรณ์เนื่องจากเจ้าหน้าที่ บันทึกตามความเข้าใจของเจ้าหน้าที่เอง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ตรวจรับรองบันทึกการประชุม



ขณะที่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าการที่ศาลขอให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมไปนั้น ยิ่งทำให้ฝ่ายค้านมีความหวังว่าศาลจะรับเอกพยานเอกสารของฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะเป็นการหักล้างเอกสารหลุดคำชี้แจงของนายมีชัย ที่อ้างว่านับวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรี จากวันที่ 6 เมษายน 60 ที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้



แต่ในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นต่อศาลไปแล้วนั้น มีหลักฐานว่าเป็นการรับรองการประชุมครั้งที่ 500 ที่อนุกรรมการได้พิจารณาตรวจสอบแล้วโดยไม่มีการแก้ไข เท่ากับว่าได้รับความเห็นชอบ จึงถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจน



สำหรับกรณีบันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ก็ถูกระบุในคำชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ โดยอ้างว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น



จากเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายมีชัย และ พลเอกประยุทธ์ แม้จะมีความเห็นตรงกันว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้เริ่มจากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ ระบุว่า เป็นการขาดตอน ไปจากการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญปี 2560 จนมีการเลือกตั้ง ในปี 2562 จึงมีการตีตวามว่า การเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ 60 ให้นับจากวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 มิถุนายน 2562 หรือไม่



ส่วนนายมีชัย ระบุว่า ให้นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 60 รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News