เลือกตั้งและการเมือง

ฝ่ายค้านเดินหน้าแก้ไข รธน. ตัดอำนาจ สว.ตั้งนายกฯ จ่อยืน 'ชวน' 16 มิ.ย.

โดย pattraporn_a

14 มิ.ย. 2564

28 views

พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติ เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติก่อน พร้อมยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยจะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย เสนอให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มาพิจารณาอีกครั้ง


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิกาาพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน ที่จะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระถัดไป โดยยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น


เพื่อแก้ไขรายมาตราโดยเฉพาะที่มานายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอ พร้อมทั้งเดินหน้าแก้ไขประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจ ส.ว. และนิรโทษกรรม คสช.


โดยจะเสนอ นายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะมีประชุมร่วมวิป 4 ฝ่ายในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดวาระประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยืนยันว่า พรรคก้าวไกล ไม่ร่วมสังฆกรรมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องนำมาสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาเป็นอันดับแรก เพื่อนำไปสู่การยกเลิก ส.ว.


ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย แสดงจุดยืนต่อการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านผลักดัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ ให้แก้ไขทั้งฉบับ ยกเว้น หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นด้วย


จึงอยากให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง อย่าได้หลงประเด็นไปกับการแก้รายมาตรา ที่ไม่ได้ขจัดการสืบทอดอำนาจ หรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคการเมืองฝ่ายผู้มีอำนาจในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ และหากจะมีการแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เช่น การตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี การนิรโทษกรรม คสช. และผู้เกี่ยวข้อง และรัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายประชามติให้เสร็จสิ้นก่อน


ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ไม่คัดค้านหากจะนำกฎหมายประชามติที่ค้างอยู่มาพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน แต่เรียกร้องไปยังฝ่ายค้านถึงพิจารณามาตราที่เหลืออยากให้อภิปรายให้เหมาะสม

คุณอาจสนใจ

Related News