สังคม
รับมือ 'อหิวาต์' สธ.ตั้งศูนย์ฉุกเฉินส่วนหน้า จ.ตาก ลดเสี่ยงระบาดจากเมียนมาเข้าไทย
โดย nut_p
22 ธ.ค. 2567
7 views
สถานการณณ์การระบาดของอหิวาตกโรคในจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนจังหวัดตากของไทย ตอนนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 300 คน เสียชีวิตมากถึง 3 คน ล่าสุดปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จังหวัดตาก รับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค พร้อมสนับสนุนทีมช่วยสอบสวนโรค วางแนวทางการป้องควบคุมโรค ที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ "เมียนมา" เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดมายังไทย
นานแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้ตั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า โดยมี นายแพทย์ สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ นานแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา
นายแพทย์โอภาส ระบุว่า สถานการณ์อหิวาตกโรคที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ทำให้พื้นที่อำเภอแม่ระมาดและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ตรงข้ามกับเมืองฉ่วยโก๊กโก่ ซึ่งมีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน
อีกทั้งช่วงปีใหม่มักมีการจัดงานรื่นเริง พบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน จึงได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จังหวัดตาก เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์
ล่าสุดได้รับรายงานว่า เมืองฉ่วยโก๊กโก่มีผู้ป่วยรวม 300 คน เสียชีวิต 3 คน อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่ 56 คน
ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2 คน ที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 คน และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 คน ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้ ทรงกระทรวงสาธารณสุข ยังพร้อมให้การสนับสนุนทีมปฏิบัติการช่วยสอบสวนโรคและวางแนวทางการป้องกันควบคุมโรคในฝั่งเมียนมา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ชาวเมียนมา เฝ้าระวังคนไทยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง และเน้นการเฝ้าระวังเชิงรุกในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชุมชนชายแดน โรงงาน ศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดน โดยให้ร้านยา ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) คอยสอดส่อง
หากพบผู้ที่มีอาการท้องเสียแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีเพื่อเร่งตรวจสอบ พร้อมทั้งดูแลน้ำอุปโภคบริโภคให้สะอาด วัดและเติมคลอรีนให้เพียงพอตามมาตรฐาน และเฝ้าระวังการจัดกิจกรรมที่มีการขายอาหาร รวมถึงอาจให้มีการตรวจหาเชื้อในผู้ค้าหากจำเป็น ทั้งนี้ ได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำการสำรวจยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์จำเป็น ทั้งยา น้ำเกลือ คลอรีน ชุดตรวจหาเชื้อในอุจจาระ และ Rapid test เพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมแล้ว