สังคม
สำรวจพื้นที่สร้างเขื่อนหลวงพระบาง เผยพบปัญหาหลายด้าน หลายฝ่ายแนะถอดบทเรียนผลกระทบข้ามพรมแดน
โดย panwilai_c
21 พ.ย. 2567
137 views
การลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าของเขื่อนหลวงพระบาง และพื้นที่สร้างเขื่อนปากแบง ใน สปป.ลาว ของข่าว 3 มิติ ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านที่จะต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง รวมถึงผลกระทบกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง และการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง และผลกระทบกับระบบนิเวศในแม่น้ำโขง จากการสร้างเขื่อนปากแบง ที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนกับประเทศไทย ทั้งในฐานะประเทศที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง และเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว ต้องคำถึงความรับผิดชอบ ที่ต้องถอดบทเรียนจากผลกระทบข้ามพรมแดนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงด้วย
เส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำโขง ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะมาจากแขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หรือมาจากเมืองหลวงพระบาง จะต้องมาพักในหมู่บ้านปากแบง หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา แม่น้ำโขง ซึ่งจะมีที่พักทั้งโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แม้จะแค่ล่องเรือมาพักค้างคืน แต่จะได้อิ่มเอมกับบรรยากาศธรรมชาติที่ได้นอนพักริมแม่น้ำโขง ทานอาหารท้องถิ่น รวมถึงอาหารป่า และปลาแม่น้ำโขง ก่อนที่เช้าวันรุ่งขึ้นจะลงเรือมุ่งหน้าไปปลายทางเมืองหลวงพระบาง หลังสถานการณ์โควิดการท่องเที่ยวเมืองปากแบง ซบเซาไปบ้าง และเพิ่งฟื้นตัวกลับมาในช่วง 1-2 ปีนี้ เราพบมีการเปิดปางช้าง ที่ฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน ชาวปากแบงกำลังตื่นเต้นกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาวนี้
แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นกังวลเช่นเดียกันว่า การก่อสร้างเขื่อนปากแบง ที่อาจจะเริ่มต้นขึ้นในอีก 1-2 ปีนี้ แม้บ้านปากแบง จะอยู่ท้ายเขื่อน ที่น้ำอาจไม่ท่วมหมู่บ้าน แต่การสร้างเขื่อนที่มีเพียงเส้นทางเดินเรือ อาจกระทบกับการล่องเรือท่องเที่ยวแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นรายได้หลักของคนที่นี่ ซึ่งมีความคาดหวังว่าคนไทยจะช่วยติดตามให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และเป็นเหตุผลที่นักอนุรักษ์และภาคประชาชน อยากเห็นการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในการสร้างเขื่อนปากแบง
รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านแม่น้ำโขง ที่บ้านลาดหัน เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงบนแม่น้ำโขง ที่ระหว่างล่องเรือแม่น้ำโขงผ่านจุดนี้ในช่วงบ่าย จะเห็นขบวนรถวิ่งผ่านเพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศจีน และจากจุดนี้ไปไม่ไกล ก็จะถึงที่ตั้งเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟให้ประเทศไทยถึง 35 ปี
ระหว่างเดินทางไปเมืองหลวงพระบาง ทีมข่าว 3 มิติ มีโอกาสได้แวะพักที่บ้านลาดหัน เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ ก่อนที่หมู่บ้านลาดหัน จะต้องจมน้ำ เพราะอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลวงพระบาง ประชาชนกว่า 800 คน จาก 185 ครัวเรือน ต้องอพยพไปหมู่บ้านที่สร้างชดเชยให้ใหม่เพราะน้ำท่วม 100 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง 26 หมู่บ้าน เกือบ 1 หมื่นคน
บ้านเรือนในหมู่บ้านลาดหัน ต่างผ่านการสำรวจที่จะต้องอพยพทั้งหมดแล้ว ที่หน้าบ้านจะมีป้ายสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ไว้ เพราะจะเป็นรหัสที่จะใช้ย้ายเข้าบ้านใหม่ ซึ่งกำลังเริ่มจัดเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างบ้านให้ใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและให้ชาวบ้านย้ายได้ภายใน 2 ปีนี้
ด้วยข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนลาว ชาวบ้านไม่กล้าที่จะให้สัมภาษณ์ต่อการสร้างเขื่อนและการอพยพ เพราะไม่สามารถจะคัดค้านได้ แม้ส่วนใหญ่ไม่อยากย้ายออกจากริมแม่น้ำโขง ซึ่งมีบางส่วนที่กำลังเจรจา ขอเงินชดเชยเพิ่ม เพราะไม่อยากย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ที่อยู่เหนือริมฝั่งแม่น้ำโขงออกไปไกล จึงจะย้ายไปอยู่ที่อื่นดีกว่า เพราะบ้านใหม่ต่างกับวิถีชีวิตที่อยู่กันมากว่า 100 ปี
เห็นได้จากสถาปัตยกรรมของวัดลาดหันใต้ ที่เป็นวัดเก่าแก่ของที่นี่ บานประตูโบสถ์ หลังคา ล้วนแต่เป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐาน เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน หากต้องย้ายออกไป ชาวบ้านอาจต้องทิ้งให้พระพุทธรูปจมอยู่ใต้น้ำ เพราะไม่รู้จะเคลื่นอย้ายออกไปอย่างไร เช่นเดียวกับบ้านเรือนประชาชนก็ต้องปล่อยให้เป็นเมืองใต้บาดาล รวมถึงโรงเรียนที่มีเด็กกว่า 600 คน เพราะเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ก็ต้องอพยพไปที่ใหม่ด้วยและชาวบ้านยังเป็นห่วงว่าย้ายไปที่ใหม่แล้ววิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิม และได้เงินเยียวยาล่าช้า อย่างที่เกิดขึ้นกับหลายหมู่บ้านที่กระทบจากการสร้างเขื่อนอื่นๆก่อนหน้านี้
ทีมข่าว 3 มิติ ล่องเรือต่อมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนอยู่กลางลำน้ำโขง และจะเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างไปได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์แล้วในส่วนประตูน้ำ เหลือส่วนสำคัญเป็นโรงไฟฟ้าที่คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2563
และเช้าวันรุ่งขึ้น เมืองหลวงพระบาง ยังรักษาวัฒนธรรมการตักบาตรข้าวเหนียว และยังเป็นกืจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาตักบาตร ชมความงามของโบราณสถาน และวัดต่างๆอย่างที่วัดเชียงทอง
วิถีชีวิตของชาวเมืองหลวงพระบาง ไม่ได้มีเพียงโบราณสถานที่เป็นวัด บ้านเรือน เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงวิถีชวิตที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง อย่างตลาดสดยามเช้าที่ยังเห็นปลาแม่น้ำโขง ที่เป็นปลาตัวใหญ่มาวางขาย รวมถึงไกสาหร่ายที่เป็นอาหารขึ้นชื่อ
หลังน้ำท่วมใหญ่เขียงรายปี 2567 คนไทยตื่นตัวผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนในประเทศจีน ที่ขึ้นอยู่กับการระบายน้ำจากเขื่อนจีน เชื่อมโยงกับน้ำในแม่น้ำสาขาหากปีไหนมีมาก โอกาสที่เมืองหลวงพระบาง จะเจอน้ำท่วม เพราะเขื่อนปากแบงและเขื่อนหลวงพระบาง อาจเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมแผนในการรับมือเช่นกัน
ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ในประเทศจีน จนถึง สปป.ลาว จึงเป็นสิ่งที่คนไทยควรจะได้รับรู้ และร่วมกันตรวจสอบ เพื่อปกป้องชีวิตคนไทยและรักษาแม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งจากจีน เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา