เศรษฐกิจ

'บอร์ดเศรษฐกิจ' ไฟเขียว 1.31 ล้านล้าน แก้หนี้เสีย 'บ้าน-รถ-เอสเอ็มอี' พักดอกเบี้ยให้ 3 ปี

โดย nattachat_c

12 ชั่วโมงที่แล้ว

122 views

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงรายละเอียด 'การปรับโครงสร้างหนี้' ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (บอร์ดเศรษฐกิจ) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า

กลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการพักการชำระดอกเบี้ยให้ 3 ปี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มหนี้บ้าน

2. กลุ่มหนี้หนี้รถยนต์

3. ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs\)

โดยทั้ง 3 กลุ่ม จะต้องเป็นหนี้เสีย อายุไม่เกิน 1 ปี กำหนดปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี (Cut of date) ไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2567 เพื่อป้องกันการแกล้งเป็นหนี้เสีย

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ทั้ง 3 กลุ่ม มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น...

1. กลุ่มหนี้บ้าน จะต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในกลุ่มนี้ มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท

2. กลุ่มหนี้รถยนต์ ต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท ในกลุ่มนี้ มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวน 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท

3. กลุ่มหนี้เอสเอ็มอี ต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในกลุ่มนี้ มีลูกหนี้เข้าข่ายจำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท

ที่เรากำหนดเงื่อนไขแบบนี้ เพราะคิดว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือ หากลูกหนี้มีประวัติชำระดี ตลอดระยะเวลา 3 ปี ก็มีโอกาสที่จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่เราพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปี นั้น ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (เอฟไอดีเอฟ) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยรายละเอียดทั้งหมด คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงรายละเอียดทั้งหมดทีหลัง


ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบัน ธปท.ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ รอบครึ่งปีในเดือน ก.ย.ทุกปี โดยปีนี้หลังชำระดอกเบี้ยแล้ว ยอดหนี้ FIDF จะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท จาก 5.8 แสนล้านบาท


รวมทั้งปัจจุบัน ธปท.ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้า FIDF ราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท โดยในนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนแบ่งไว้สำหรับการชำระเงินต้น

โดยหากลดเงินส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% จะทำให้เรียกเก็บเงินต่อปีได้ลดลงเหลือเพียง 3.5 หมื่นล้านบาท และทำให้เกิดต้นทุนต่อเนื่องอีก 2 ส่วน คือ การชำระเงินต้นจะลดช้าลง โดยหากลดเงินนำส่ง 1 ปีซึ่งเงินต้นจะยืดไปอีกประมาณครึ่งปี และทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การลดเงินนำส่ง FIDF ดังกล่าวแตกต่างกับช่วงตอนการระบาดโควิด-19 ที่ให้สถาบันการเงินมีการลดเงินนำส่งชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด แต่การลดเงินนำส่งเพื่อนำไปบริหารหนี้ภาคประชาชน อาจทำให้เกิดพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ต้องมีภาระในการส่งเงินนำส่งอยู่ที่ปีละ 0.47% โดย ส่วนแรก ที่ 0.01% จะส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และอีก 0.46% ของยอดเงินจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของ FIDF



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/R6AJiJp7SEg


คุณอาจสนใจ