ต่างประเทศ

สื่อนอกรายงานข่าวเศร้า 'รถบัสนักเรียนไฟไหม้' - ไทยย่ำแย่ระดับโลก ความปลอดภัยบนท้องถนน

โดย nattachat_c

2 ต.ค. 2567

484 views

สื่อต่างชาติต่างเกาะติดเสนอข่าวเหตุการณ์รถโดยสารของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ ขณะอยู่บนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567

สำนักข่าวรอยเตอร์l รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 คน จากเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ ขณะนำคณะครู และนักเรียน รวมมากกว่า 40 คน ไปทัศนศึกษาไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

โดยภาพในสื่อสังคมออนไลน์ และในรายงานข่าวต่าง ๆ แสดงให้เห็นควันไฟพวยพุ่งออกมาจากรถบัสที่เกิดไฟไหม้ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังพยายามควบคุมเปลวเพลิง โดยช่างภาพของรอยเตอร์l ระบุว่า มีรถดับเพลิง รถตำรวจ และรถกู้ภัย จำนวนมาก จอดรอบรถบัสที่ถูกไฟคลอกจนกลายเป็นสีดำทั้งคัน

วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ  รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวกับผู้สื่อข่าว ณ จุดเกิดเหตุว่า รถบัสคันนี้ใช้เชื้อเพลิงเป็นแก๊สซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมัน แต่ก็สามารถระเบิด และเกิดเพลิงไหม้รุนแรงกว่า พร้อมยืนยันว่า ทางกระทรวงฯ จะหามาตรการเพื่อไม่ให้ยานพาหนะโดยสารลักษณะนี้ ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว เนื่องจากเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีแถลงการณ์ว่า รัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมกล่าวว่า “ในฐานะแม่ ดิฉันของแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต”

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นายกฯ หญิงของไทยซึ่งมีบุตรสองคน มีน้ำเสียงสั่นเครือและได้นำกระดาษทิชชูขึ้นมาเช็ดน้ำตา ขณะเดินขึ้นทำเนียบรัฐบาลด้วย

ทางเอพีได้สอบถาม ปิยะลักษณ์ ถิ่นขาว เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งบอกว่าศพส่วนใหญ่ถูกพบที่บริเวณตอนกลาง และตอนหลัง ของรถบัส ทำให้เชื่อว่าไฟไหม้อาจเริ่มขึ้นในส่วนด้านหน้าของรถ และพวกเขาพยายามหนีไปด้านหลัง

เอพี ยังได้รายงานอีกว่า เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางไปทัศนศึกษาระยะทางไกลนานหลายชั่วโมง  บนท้องถนนที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิต ในระดับสูง

สำนักข่าว วีโอเอ ของสหรัฐฯ พร้อมกับสื่ออีกหลาย ๆ สำนัก ได้ระบุย้ำถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า "ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีประวัติความปลอดภัยบนถนนย่ำแย่ที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 คน บาดเจ็บอีก 1 ล้านคน จากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย"

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ความปลอดภัยทางถนนถือเป็นประเด็นสาธารณสุขที่สำคัญ และมีความสำคัญสูงสุดของรัฐบาลไทย แม้ว่าจะมีแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนแห่งชาติฉบับที่ 5 ก็ตาม แต่ความคืบหน้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า

ตามรายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนระดับโลกฉบับที่ 5 (2023) พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 25.4 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2021 ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในเอเชีย และในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 175 ประเทศ ในด้านการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด

ในปี 2021 องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 18,218 ราย หรือเฉลี่ย 50 รายต่อวัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ซึ่งคิดเป็น 83.8% ของผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด

ส่วน ข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส ที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทางถนน มีมูลค่าประมาณ 531,058 ล้านบาท (ประมาณ 15,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 หรือคิดเป็น 3.06% ของ GDP

คุณอาจสนใจ

Related News