สังคม

‘ณัฐชา’ สวน ‘ธรรมนัส’ ปล่อยข่าวปลาหมอคางดำหายากขึ้น - 'ซีพีเอฟ' จ่อดำเนินคดีใช้ภาพเท็จโจมตี

โดย petchpawee_k

31 ก.ค. 2567

35 views

'ธรรมนัส' บอกปลาหมอคางดำ หายากขึ้นแล้วตอนนี้ หลังออกมาตรการแก้ไข ลั่นวันนี้กระจ่างแน่ เพราะครบ 7 วันตามสัญญาของการพิสูจน์แหล่งที่มา ต้นตอการแพร่ระบาด

วานนี้ (30 ก.ค.) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ว่า เรื่องนี้ตนได้มอบให้กับ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานในการแก้ไขปัญหา ขณะนี้นโยบายต่างๆ ที่สรุปทั้งหมดจากการประชุม คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกสมาคมทุกจังหวัดในประเทศไทย เป็นต้น จนได้ข้อสรุป ซึ่งวันนี้ก็จะมีการสรุปชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่ามาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ มีอย่างไรบ้าง


โดยสถานการณ์ขณะนี้ หลังมีมาตรการของกระทรวงฯออกไป ก็ได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และพบว่าขณะนี้เริ่มที่จะหาปลาหมอคางดำยากแล้ว โดยตอนนี้นั้น มีหลายมาตรการที่ได้รับข้อเสนอมาจากสมาคมชาวประมงฯ 9 ข้อ มาประมวลออกเป็นมาตรการต่างๆ

เมื่อถามถึง ความคืบหน้าของการตรวจสอบแหล่งที่มา ของปลาหมอคาง หลังนาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล จี้ถามเนื่องจากครบกำหนด7 วัน ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ก็เพิ่งจะครบ 7 วันในวันนี้ และวันนี้ก็จะกระจ่าง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบแน่นอน อะไรที่ตนเคยรับปากไปแล้วก็จะเป็นไปตามนั้น

ขณะที่วานนี้ในที่ประชุมครม.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานมาตรการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยมีการตั้งคณะทำงานมาแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้น กลางยาว

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอบคุณครม.ที่เห็นชอบมาตราการที่กระทรวงเกษตรฯได้เสนอ ครม. 7 มาตรการ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำด้วยวาจา และสัปดาห์หน้าจะเสนอด้วยเอกสาร ประกอบด้วย

1.จำเป็นต้องกำจัดและนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศน์ของไทยให้มากที่สุด

2.มาตรการรอการกำจัด โดยต้องรอให้ปลาหมอคางดำลดลง หลังจากนั้นจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดโดยการปล่อยปลานักล่าลงไป อาทิปลากระพง ปลาอีกง ที่เราเชื่อว่าในช่วยเวลาที่เหมาะและพื้นที่ที่เราศึกษามาแล้ว โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ปลานักล่าไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น

3.นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปใช้เรื่องอื่นๆ โดยตั้งเป้าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้าเราจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 พันตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม

4.มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น

5. ทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด

6.ใช้การวิจัย นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่นการเหนี่ยวนำโครโมโซม จาก 2n เป็น 4n ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นหมัน และเราจะใช้ฟิโรโมน หรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดทางเพศ ในการนำแสง สีไปล่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก

7.การฟื้นฟู กระทรวงเกษตรฯจะต้องไปศึกษาแหล่งน้ำที่เราพบปลาหมอคางดำ ในปัจจุบันมีปลา ปู กุ้ง หอย อะไรบ้างเพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อคืนระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมา


เมื่อถามว่า มีข้อเสนอนักวิชาการให้ใช้ไซยาไนด์ กำจัดปลาหมอคางดำ นายอรรถกร กล่าวว่า ข้อเสนอนั้นมาจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ เราไม่ปิดโอกาสให้เสนอแนวความคิด แต่ในมาตรการต่างๆที่เราจะใช้ยาแรง ก่อนที่เราจะทำต้องติดและไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะสังคมไทยและระบบนิเวศน์จะได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่เราออกไป ดังนั้นมาตรการหลักของเราคือทำงานร่วมกับชาวประมงที่ถือเป็นนักล่ามือหนึ่ง ส่วนมาตรการอื่นๆ เราจะค่อยๆ พิจราณาตามสถานการณ์ต่อไป

-----------------------------------

“ณัฐชา” ปูดมีความพยายามปล่อยข่าว สถานการณ์ “ปลาหมอคางดำ” ดีขึ้น ทั้งที่ไม่เป็นจริง – ฝาก ธรรมนัส อย่าพูดเอง รอเกษตรกรพูดดีกว่า - กังวลนักวิชาการหลายคนจุดยืนเปลี่ยน ตั้งข้อสังเกตเพราะได้รับเงินสนับสนุนวิจัยหรือไม่ – ลั่น ต้องไม่มีอีกแล้ว วิธีการสืบสันดานแบบปกปิดความผิดเหมือนกรณีหมูเถื่อน พร้อมเปรียบว่านี่ คือสถานการณ์ปลาเถื่อน – ยินดีเชิญเอกชนชี้แจงอีกครั้งหลังเห็นแถลงพร้อมให้ความร่วมมือ


นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วิกฤตผลกระทบจากปลาหมอคางดำกำลังลามไปอีกขั้น คือจากปลาสู่คน เพราะปัญหาที่อนุฯ กำลังเผชิญคือคนเปลี่ยนไป


"ตอนนี้ทำงานยากขึ้น เนื่องจากมีความพยายามปล่อยข่าวว่าสถานการณ์ดีขึ้น ทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ผนวกกับการเปลี่ยนท่าทีของนักวิชาการหลายท่านในอนุ กมธ. ที่ออกมาให้ข้อมูลในทางเบี่ยงประเด็นต้นตอสาเหตุของการแพร่ระบาด จากสมมติฐานเดิม คือ มีเอกชนผู้นำเข้าเพียงรายเดียว ซึ่งเรื่องนี้อนุกรรมธิการได้พูดคุยกันอย่างจริงจังมาตลอด ว่าต้องเดินหน้าหาต้นตอการแพร่ระบาดให้เจอให้ได้ เพราะผลกระทบเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อไม่ให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และยิ่งหากปัญหาลุกลามไประดับภูมิภาค จะทำให้ประเทศไทยต้องรับผิดชอบความเสียหายมูลค่ามหาศาลและอาจต้องใช้งบประมาณภาษีจากพี่น้องประชาชนมาแก้ไขสถานการณ์ที่ประชาชนไม่ได้ก่อขึ้น" นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวว่า จะต้องไม่มีอีกแล้วกับการสืบสันดานปกปิดความผิดของบุคคลหรือบริษัทเอกชน ไม่ให้มาเกี่ยวข้องเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ดังเช่นกรณีหมูเถื่อนที่ถูกตัดตอนทันทีเมื่อมีข้อมูลเชื่อมโยงว่าอาจเกี่ยวข้องกับทุนใหญ่ผูกขาดเจ้าประจำ เพราะฉะนั้นวังวนเดิมๆจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกในกรณีนี้

"ข้อสังเกตอันน่ากังวลที่เรากำลังเผชิญ คือ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากเดิมที่เคยช่วยงานกัน ช่วงหลังเริ่มมีการให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากเดิม ผมไม่แน่ใจว่าอาจเป็นเพราะการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาจะไปกระทบกับโครงการที่สถาบันการศึกษาต่างๆ เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยหรือดำเนินงานอื่นๆ หรือไม่ จึงเป็นที่มาของการเบี่ยงเบนการให้ข้อมูลที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้" นายณัฐชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายณัฐชา ยืนยันว่าจะเดินหน้าหาความจริงต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้เสนอต่อประธานในที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯ เพื่อขอตั้ง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI เป็นที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมธิการ  เพื่อเสริมทัพเสริมกำลังในการเปิดขบวนการนำเข้าปลาหมอคางดำทั้งหมดให้ประชาชนได้เห็น ท่ามกลางสถานการณ์แรงกดดันที่สูงขึ้นทุกวัน ซึ่งที่ผ่านมาทางมูลนิธิชีววิถี ได้แถลงข้อมูลและมุมมองต่างๆ ออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องในประเด็นเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานโค้งสุดท้ายอย่างสุดความสามารถ ตนยืนยันว่าเราต้องการหาต้นตอคนผิดมารับผิดชอบต่อภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ให้ได้ และจะต้องไม่มีใครหยุดยั้งหรือยุติการตรวจสอบของเราครั้งนี้


ทีมข่าวได้คุยนายณัฐชา เพิ่มเติม ระบุว่า ตอนนี้เสียงสะท้อนจากเกษตรกร เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำยังไม่ดีขึ้น หากดีขึ้นจริง มองว่าไม่ต้องใช้เสียงของภาครัฐ เกษตรกรจะพร้อมใจกันบอกเองว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว


ส่วนกรณี ร้อยเอกธรรมนัส บอกว่าปลาหมอคางดำค่อนข้างหายากแล้วนั้น นายณัฐชา ระบุว่า “ผมคิดว่ารัฐมนตรีไม่ต้องพูดเองก็ได้ หากสถานการณ์ดีขึ้น รอฟังเสียงเกษตรกรดีกว่า จะเป็นผลบวกมากกว่าเพราะว่าตอนนี้มาตรการของท่านยังไม่ชัดเจน  และเจ็ดมาตรการที่ ครม. เคาะ  ผมก็ยังตั้งคำถามตัวโตๆเลยว่า มาตรการที่พี่น้องประชาชนต้องการมากที่สุด  คือการประกาศเขตภัยพิบัติทั้ง 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดไปแล้วเพื่อให้มีการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกรให้ฟื้นจากอาการน็อคก่อน เรื่องนี้ก็ยังไม่เห็นถึงความชัดเจน”


นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยบบางส่วนเริ่มเปลี่ยนจุดยืน ท่าทีที่เปลี่ยนไป หากตั้งข้อสังเกต ตนมองว่าอาจเป็นเพราะมีการสนับสนุนงบประมาณเรื่องการวิจัยหรือไม่  นายณัฐชา ยังกล่าวว่า อีกเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการตามหาข้อเท็จจริงของต้นตอการระบาด เรายังไม่ได้ยินข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ว่าจะดำเนินคดีกับต้นต่อที่เกี่ยวข้องอย่างไร


“เราเห็นแต่ความพยายามในการเบลอๆ ลืมเลือนเรื่องนี้ไป แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ทำลายเกษตรกรคนไทยทั้งประเทศ”


ส่วนกรณีที่ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและครบกำหนดแล้ว  จากนี้จะให้ รมช.อรรถกร เป็นคนแถลง คาดหวังอย่างไรบ้าง นายณัฐชา บอกว่า รอแถลงอยู่เช่นกัน เพราะ 7 วันแล้ว ยังไม่ได้ข้อมูลว่า สรุปแล้วชัดเจนอย่างไร แต่ที่ทราบข้อมูลชัดเจนแล้วคือ 7 มาตรการซึ่งมองว่าเป็นมาตรการที่ควรทำอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่โพสต์ทำนองว่า “จะต้องไม่มีอีกแล้วกับการสืบสันดานปกปิดความผิดของบุคคลหรือเอกชนไม่ให้มาเกี่ยว” นายณัฐชา ขยายความว่า “เพราะมันเป็นเรื่องเดิมๆ สังคมไทยเคยเจอสถานการณ์ที่ภาครัฐสู้กับกลุ่มทุนมาแล้วครั้งหนึ่ง  ในเรื่องของหมูเถื่อน แต่วันนี้เราต้องกลับมาเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้อีกครั้ง   ก่อนหน้านี้เรื่องหมูเถื่อน มีการแอ็คชั่นจากนายกรัฐมนตรี มีการโยกย้ายและปรับเปลี่ยน  แต่วันนี้เราไม่ทราบว่า ใครเป็นคนนำปลาเข้ามา ใครเป็นเจ้าของและระบาดได้อย่างไร   ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องหมูเถื่อน  จึงขอใช้คำว่า ปลาเถื่อน  แต่ปลาเถื่อนจะมีจุดจบเหมือนหมูเถื่อนหรือไม่  ต้องติดตามว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยของสังคมได้หรือไม่  และภาครัฐจะกล้าดำเนินคดีกับเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนกรณีที่บริษัทเอกชน บอกว่าพร้อมให้ความร่วมมือเรื่องการให้ข้อมูล นายณัฐชา  กล่าวว่า ที่บอกว่ายินดีให้ความร่วมมือและให้ข้อมูล  ตนก็งงว่ายินดีอย่างไร เพราะขอความร่วมมือไปแล้ว 2 ครั้ง ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเลย แต่วานนี้แถลงข่าวว่าพร้อมให้ความร่วมมือแล้ว  ตนในฐานะคณะกรรมการที่ตาม หาข้อเท็จจริงเรื่องนี้  ก็อยากได้ข้อมูล หากท่านประกาศออกมาแล้วว่ายินดี   เราก็ยินดีที่จะเชิญท่านอีกครั้งเพื่อเป็นพื้นที่ให้ท่านนำความจริงมาปรากฏสู่พี่น้องประชาชน หากอยากให้สังคมคลายข้อสงสัย ได้โปรดนำคำตอบนั้นมาชี้แจง

----------------------------
ซีพีเอฟไม่ทน จ่อดำเนิคดีใช้ภาพเท็จ โจมตีปลาหมอคางดำ ขอปชช.อย่าแชร์ 

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาและในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะที่เป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท โดยมีตัวอย่างภาพเท็จและข้อมูลเท็จบางส่วน ดังนี้


ภาพแรกเป็นภาพที่สร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร ซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปี 2554 ถึง ปี 2557 และกล่าวอ้างว่า “เลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553 ถึง 2560” ซึ่งขอชี้แจงว่า เป็น “การใช้ภาพและข้อมูลเท็จ” เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และ หลังจากการตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2554 และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลานี้อีกเลย ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จเสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคมต่อองค์กร

ภาพที่สอง เป็นภาพที่กล่าวอ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร ความเป็นจริงแล้วสถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และกิจกรรมดังปรากฎในภาพนี้ ไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท


สำหรับภาพสุดท้าย เป็นภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์ม โดยมีการระบุผังของฟาร์ม ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ กล่าวคือ กรอบสีแดง ไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาตามที่กล่าวอ้าง ความเป็นจริงคือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ขณะที่กรอบสีเหลืองที่ระบุว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่ออนุบาลปลาตามที่กล่าวอ้างนั้น ความจริงคือเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล


นอกจากรูปภาพที่บิดเบือนบางส่วนที่นำมาแสดงในวันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อความบิดเบือนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการทางกฏหมายต่อไป โดยผู้ที่ให้รูปและข้อมูลที่เป็นเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริง ควรต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ร่วมกับผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าวในการสื่อสารในเวทีสาธารณะต่างๆด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นด้วยว่า ควรมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสังคมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่ซีพีเอฟไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กลับมีกิจกรรมค้าขายปลาชนิดนี้ในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้สังคมให้ความเป็นธรรมและควรมีการสอบหาเหตุอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เพื่อนำข้อเท็จจริงมาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายในระยะยาว

สำหรับโครงการความร่วมมือสนับสนุนการแก้ปัญหา 5 โครงการนั้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือสนับสนุนกรมประมงที่มีกิจกรรมการจับปลาและปล่อยลูกปลากะพง ซึ่งพบว่าในบางพื้นที่ มีปริมาณปลาลดลงอย่างมาก ล่าสุด ได้เข้าร่วมกิจกรรมจับปลาและมอบปลากะพงเพิ่มเติมกับประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อแสดงความจำนงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2-3 แห่ง ในการร่วมมือการทำวิจัย ทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและการวิจัยเพื่อหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว

บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบหาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างสุจริต ขณะเดียวกันต้องขอปกป้องชื่อเสียงองค์กรจากการใช้ข้อมูลและหรือรูปภาพกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด ผู้ให้ข้อมูลและหรือรูปภาพเหล่านั้นรวมทั้งผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าว ประกอบความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะหรือสื่อต่างๆ ควรรับผิดชอบในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น โดยจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกฏหมายต่อไป


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/cOFxi10ZRh0


คุณอาจสนใจ

Related News