สังคม

กรมประมง ยันไม่มีวิจัย 'ไข่ปลาหมอคางดำ' ทนแล้งได้ถึง 2 เดือน

โดย panwilai_c

24 ก.ค. 2567

46 views

จากกรณีข่าวที่มีการแชร์กันว่า ไข่ปลาหมอคางดำที่หลุดออกจากปากพ่อปลาแล้ว สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากพ่อได้ นานถึง 2 เดือน ล่าสุด อธิบดีกรมประมง ออกเอกสารข่าวชี้แจง ยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน



ขณะเดียวกันอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงข้อสงสัยของสังคม เรื่อง ไข่ปลาหมอคางดำ ที่มีการแชร์กันว่า สามารถทนต่อสภาพแวดที่แห้งแล้ว หรืออยู่นอกปากปลาหมอคางดำตัวผู้ได้ถึง 2 เดือน และยังสามารถฟักเป็นตัวได้ โดยระบุว่า จากหลักวิชาการด้านประมงปลาหมอคางดำเป็นปลาที่พ่อปลาจะอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปาก เพราะไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้นและออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำ จึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้



หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก



รวมถึงเมื่อปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำแล้ว ไข่ปลาที่อยู่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้ว จะสามารถทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10 - 15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง

อธิบดีกรมประมง ยืนยันว่า ในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน



ส่วนข้อแนะนำในการขนย้ายปลาหมอคางดำ คือ ควรทำการขนส่งแบบแห้ง เพื่อไม่ให้มีไข่ปลารอดชีวิต การนำปลาหมอคางดำไปเป็นเหยื่อหรืออาหารสัตว์แบบสด ควรใช้ปลาตายและเช็คให้แน่ใจว่าไม่มีไข่อยู่ในปากแล้ว ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของปลาหมอคางดำ เช่น การนำไปทำปุ๋ยชีวภาพหรือทำเป็นอาหารสัตว์ ควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันการหลุดรอด และการขนส่งปลาสดในน้ำแข็ง ควรนำปลาใส่ถุงก่อน เพื่อไม่ให้สัมผัสกับน้ำแข็งที่อาจละลายในระหว่างการขนส่ง



ทางด้านนายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย แถลงความพร้อมรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำจากปลาหมอคางดำ



โดยประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย บอกว่า เบื้องต้นตั้งเป้าจะรับซื้อปลาหมอคางดำ จำนวน 1,000 ตัน เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ หากมีจำนวนมากก็จะผลิตไปเรื่อยๆ ขณะนี้การยางแห่งประเทศไทย เตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว จำนวน 300 ล้านบาท โดยจะรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัม 15 บาท



สำหรับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ จากปลาหมอคางดำ จะนำไปแจกให้เกษตรกรชาวสวนยาง ในส่วนสงเคราะห์ก่อน ส่วนเกษตรกรที่ไม่อยู่ในส่วนสงเคราะห์ สามารถมาซื้อได้ จะขายให้ในราคาลิตรละ 99 บาท ถูกกว่าท้องตลาด เพราะปุ๋ยอินทรีย์ปลาในท้องตลาด ขายอยู่ราคาลิตรละ 200 บาท ถ้ารับซื้อปลาในเดือนสิงหาคม จะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากปลาหมอคางดำ ได้ในเดือนกันยายน

คุณอาจสนใจ

Related News