เศรษฐกิจ

น่าห่วง! ไทยขาดดุล 'บริการดิจิทัล' สูงปีละ 2 แสนล้านบาท

โดย panwilai_c

8 เม.ย. 2567

153 views

สถานการณ์การขาดดุลบริการดิจิทัลน่าห่วง สูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับการส่งออกข้าวไทยถึง 2 ปี



โดยเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น เปิดเผยถึงสถานการณ์ขาดดุลบริการดิจิทัลของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15-20% สาเหตุมาจากผู้ให้บริการมีการปรับตัว



โดยเปลี่ยนจากที่เคยให้ผู้บริโภคซื้อสิทธิ์ในการใช้ซอฟท์แวร์ เป็นการสมัครสมาชิกจ่ายรายเดือนแทน ทำให้คนเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น คาดว่าคนไทย จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการดิจิทัลแบบสมัครสมาชิกเฉลี่ยคนละ 2-3 พันบาทต่อปี และประเมินว่า คนไทยที่ใช้บริการออนไลน์ทั่วไป ซึ่งมีอยู่กว่า 50 ล้านคน ในจำนวนนี้หากมีผู้จ่ายเงินสมัครสมาชิกซื้อบริการดิจิทัล ราว 10-20 ล้านคน จะเป็นเงินมหาศาล



แต่ปัญหาคือ เงินที่ผู้บริโภคจ่ายออกไปซื้อบริการดิจิทัลเหล่านี้ จะถูกส่งตรงไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยที่ไทยไม่ได้รับประโยชน์ แม้กรมสรรพากร จะออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีบริการดิจิทัล หรือ E-Service Tax สำหรับผู้ให้บริการที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็ตาม แต่เงินส่วนใหญ่ก็ยังถูกส่งไปต่างประเทศ เพราะภาษีที่เรียกเก็บจะถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายผ่านราคาบริการที่เพิ่มขึ้น

โดยข้อมูลในปี 2566 คนไทยจ่ายเงินซื้อบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียน 177 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 96,000 ล้านบาท กรมสรรพากรจัดเก็บภาษี E-Service ได้เพียง 6,700 ล้านบาทเท่านั้น



ขณะที่ในสถานการณ์จริง ยังมีผู้ให้บริการดิจิทัลอีกเป็นพันราย ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน เมื่อประเมินมูลค่าการซื้อบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ขึ้นทะเบียน จะไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับการส่งออกข้าวไทยถึง 2 ปี หรือ ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่ใช้ในการนำเข้าน้ำมันในแต่ละปี ที่น่าเป็นห่วง คือ เม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาทนี้ ยังไม่ถูกนำไปคำนวณการขาดดุลของประเทศ



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/jcnjKjKV1jE

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ