สังคม

รพ.พยัคฆภูมิพิสัย ใช้โดรนส่งยาถึงบ้าน ลดความแออัด-ประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วย

โดย weerawit_c

16 มี.ค. 2567

37 views

หากพูดถึงการไปโรงพยาบาล หลายคนคงนึกภาพถึงความแออัด ผู้คนหลากหลายที่ต้องไปเฝ้ารอ ทั้งพบหมอ รอยา ตลอดจนเดินเอกสารต่าง ๆ ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หลายโรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยี “Telemedicine” หรือ “ระบบการแพทย์ทางไกล” มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัด ลดการเดินทางมาที่โรงพยาบาล ตั้งแต่ช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา แต่ปัญหายังคงอยู่ที่การส่งยา ที่ผู้ป่วยยังคงต้องรอ บางครั้งอาจใช้เวลานาน 2-3 วัน ซึ่งในความรู้สึกของผู้ป่วย อาจจะรู้สึกว่านานเกินไป โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จึงได้ใช้นำระบบ Virtral OPD ซึ่งหมายถึงระบบห้องตรวจเสมือนจริง ที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ รับคำปรึกษาจากแพทย์ ตลอดจนรับยาและเวชภัณฑ์ได้ภายในวันเดียว ด้วยการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่จะบริการส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน


ดร.พญ.สาธิตา เรืองสิริภคกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีแผนการพัฒนาและศึกษาทดสอบความเป็นไปได้โดยการนำโดรนมาทดลองส่งยาให้กับผู้ป่วยที่ ทำการรักษาผ่านระบบ Virtual OPD ทางโรงพยาบาลเห็นว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน และประหยัดเวลา โดยนำอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการส่งยาถึงมือผู้ป่วยภายในวันเดียว หลังผู้ป่วยทำการรักษาผ่านระบบ Virtual OPD


ในระบบเดิม ผู้ป่วยที่เดินทางมาพบแพทย์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เหมารถมาโรงพยาบาลรายละ 300-500 บาท หากเดินทางมาแต่เช้า ก็ต้องมาเสียค่าอาหาร หรือค่าที่พัก พอหาหมอเสร็จแล้วในการรอรับยา ผู้ป่วยต้องใช้เวลารอรับยา 2-3 วัน บางครั้งยาที่จัดส่ง มีการสูญหายระหว่างทาง โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัยจะต้องเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพให้กับประชาชนในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การลดการรอคอย ลดแออัด ในโรงพยาบาล ตอบสนองนโยบาย Smart Hospital อีกทั้งการใช้โดรนในการส่งยา เป็นการใช้เทคโนโลยีนำร่องให้โรงพยาบาลอื่นที่สนใจ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่


การใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน สามารถตอบสนองนโนบายลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มการเข้าถึงถึงผู้ป่วย และประชาชนที่มารับบริการ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาล โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ตรวจรักษาผ่านสถานีสุขภาพที่โรงพยาบาลได้จัดตั้งไว้ที่หมู่บ้าน กลุ่มนี้จะไม่ต้องมาโรงพยาบาลเลย โดยสามารถตรวจกับแพทย์โดยทางผ่านจอคอมพิวเตอร์ และกล้องที่มีความละเอียดสูง โดยมีคุณหมอคนที่ 1 ซึ่งก็คือ อสม. ประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ทำประวัติ อ่านเลข HN และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย ก่อนที่จะพบแพทย์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ให้แพทย์สอบถามอาการ และจ่ายยา ผู้ป่วยก็สามารถรอรับยาอยู่ที่บ้านได้เลย


กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มาตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่ขั้นตอนตรวจจากแพทย์ รับใบนัด แต่ไม่ต้องรอรับยา สามารถกลับบ้านได้เลย โดยทางโรงพยาบาลจะนำส่งยาที่บ้านด้วยโดรนให้ถึงที่


สำหรับโดรนที่นำมาทดลองส่งยาให้กับผู้ป่วย สามารถรับน้ำหนักได้ครั้งละ 10 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการส่งยาในแต่ละครั้ง ซึ่งเทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นโดย บริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด


ดร.ธนากร ทรัพย์สุขบวร ผู้บริหารเอวิลอน โรโบทิคส์ กล่าวว่า ทางบริษัทเป็นผู้ผลิตและให้บริการโดรนสำหรับธุรกิจ ในประเทศไทย ทั้งโดรนเพื่อการขนส่ง โดรนเพื่อการสำรวจ โดรนสำหรับบินภายในอาคาร ทางบริษัทได้เล็งเห็น ความสำคัญในการพัฒนาขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะการนำมาใช้ในการขนส่งเวชภัณฑ์ ซึ่งจะช่วย ประหยัดเวลาในการขนส่ง ลดต้นทุนการขนส่ง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเวชภัณฑ์ได้รวดเร็วขึ้น และรักษา สิ่งแวดล้อมเนื่องจากโดรนใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อน สำหรับในช่วงการทดลองส่งยาจะใช้พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะสวนพุทธ และสนามโรงเรียนบ้านหนองห้าง ในการรับส่งยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งก่อนการบินทุกครั้งจะมีการประสานกับการบินพลเรือน เพื่อขออนุญาตขึ้นบิน โดยจะใช้เวลาเพียง 3 นาที ก็จะถึงปลายทาง ทาง อสม. ก็จะมารับยา นำไปส่งให้กับผู้ป่วย ส่วนตัวโดรนก็จะบินกลับที่ตั้ง


พญ. พัฒน์สรณ์ บุราณรักษ์ แพทย์ชำนาญการ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลให้บริการในระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยจะมีขั้นตอนของการส่งยาที่บ้านนำร่องมาก่อนในช่วงสถานการณ์โควิด เนื่องจากเป็นช่วงที่คนไข้ไม่สามารถมารับยาด้วยตนเอง เพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อ นำร่องโดยแบ่งคนไข้ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มสีแดง เป็นกลุ่มที่ต้องมาโรงพยาบาล กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีเขียว เป็นกลุ่มที่อาการไม่หนัก สามารถรอรับยาที่บ้านได้ ก็จะมีการจัดส่งยาไปให้ที่บ้าน ซึ่งเป็นที่มาของการพบแพทย์ทางไกล


ในส่วนของพื้นที่ของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย บางพื้นที่ไม่มีรถโดยสารประจำทาง คนไข้ที่ไม่มีเงินจ้างรถโดยสาร หรือจ้างเพื่อนบ้านในมาส่งที่โรงพยาบาล ก็จะขาดยา ไม่ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง คนที่จะช่วยคนไข้ได้ก็คือ อสม. ในพื้นที่ หากมีการใช้โดรน ก็จะลดในเรื่องการค่าใช้จ่าย เช่น ทางไปรษณีย์ ลดในเรื่องพนักงานของค่าน้ำมัน หากส่งโดรน 1 จุดมี อสม. ไปรับ นำส่งให้ผู้ป่วยแต่ละบ้าน คนไข้ก็จะได้รับยาทั้งหมู่บ้าน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปโรงพยาบาล


นางบุญมา แว่วจันลา อสม. บ้านหนองห้าง ม.3 ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ปัญหาและอุปสรรคของคนไข้ก็คือ บางคนไม่มีลูกหลานพาไปโรงพยาบาล หากจะเหมารถไปก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหลายร้อยบาท ต่อการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้ง หากมีโครงการใช้โดรนส่งยาจริง ๆ ก็จะช่วยให้คนไข้มีความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งคนไข้ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง ก็จะไม่ขาดยา


ด้านนางสมฤดี บุญล้อม ผู้ป่วยในหมู่บ้าน กล่าวว่า ตนเองป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตาเป็นต้อกระจก และอีกหลาย ๆ โรค เวลาไปหาหมอต้องเหมารถไป เดินทางไปหาหมอลำบาก โครงการนี้จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล มีความสะดวกมากสำหรับคนที่ไม่มีคนพาไป เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะช่วยชาวบ้านได้จริง


https://youtu.be/BYw7F7pgzj4

คุณอาจสนใจ