เลือกตั้งและการเมือง
'เศรษฐา' หารือ 'มาครง' ชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย - จีบแบรนด์หรู LVMH ร่วมดีไซน์เนอร์ไทย
โดย nattachat_c
12 มี.ค. 2567
21 views
วานนี้ (11 มี.ค. 2567) เวลา 13.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Palais de l’Elysée) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าพบกับ เอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
โดยนายกรัฐมนตรี ยังคงสไตล์การแต่งตัว นำผ้าขาวม้าไทย มาคล้องเป็นผ้าพันคอ คู่กับชุดสูท จากนั้น 2 ฝ่าย ได้จับมือ ก่อนหารือ และออกมาแถลงข่าวร่วมกัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอบคุณการต้อนรับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรป นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และยินดีกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Paris 2024 ของฝรั่งเศส
หวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีมาครงที่ไทยอีกครั้ง ไทยและฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จุดยืน และวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ โดยนายกฯ ได้กล่าวถึง 4 ประการ พื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน คือ
1.ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า 300 ปี โดยปี 2568 จะครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี 2569 ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 170 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต
2.ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคง และยั่งยืน แก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ
3.มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป ก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือของนานาประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม และกฎบัตรสหประชาชาติ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ และ
4.รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล
โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลง 8 วิสัยทัศน์เพื่อจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคใน 8 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งในภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน และจะได้เชิญชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย ดังนี้
หุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 โดยจะหารือถึงความร่วมมือยานยนต์ พลังงานสะอาด การบินและการขนส่ง รวมถึงเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศส พิจารณาการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย
ทั้งนี้ นายกฯ ยังชื่นชมข้อริเริ่ม Paris Pact for People and the Planet หรือ 4P Initiative ของฝรั่งเศสที่มุ่งขจัดความยากจนไปพร้อมกับการอนุรักษ์โลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของไทยเช่นกัน
หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ นายกฯ เชื่อมั่นว่าหากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568 มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี หวังที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสพัฒนาวัตถุดิบ และเทคนิคการออกแบบผ้าไหมและผ้าไทยร่วมกับสถาบันแฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และร่วมมือกับแบรนด์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของฝรั่งเศสในการนำสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสกว่า 20 แห่งจากภาคยานยนต์ การบิน พลังงานสะอาด แฟชั่น กีฬา การโรงแรม และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสและลู่ทางด้านธุรกิจของทั้งสองประเทศ
โดยประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของชาวฝรั่งเศส ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยกว่า 2 แสนคน ที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศส ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูง
“นายกฯ หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน”
พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้านกับฝรั่งเศส จากนี้ไปอีกหลายทศวรรษ
ขณะที่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวโดยสรุป ว่าทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก
นายกรัฐมนตรี ยังโพสต์ข้อความเพิ่มเติม ระบุว่า “ภารกิจในการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการครั้งแรกครอบคลุมหลายมิติมากครับ เนื่องจากเศรษฐกิจฝรั่งเศสใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นผู้นำใน EU ที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางนโยบายของสหภาพฯ คู่กับเยอรมนี และยังเป็นประเทศที่มีความรู้ที่ส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในด้านพลังงานทดแทน นิวเคลียร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การอาชีวศึกษา การขนส่งระบบรางและรถไฟความเร็วสูง อากาศยาน และเมืองอัจฉริยะ”
โดย “ทั้ง 2 ประเทศ มีจุดยืนและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกันในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย การสร้างโลกที่มีความมั่นคงและยั่งยืน และจุดยืนร่วมกันในการรักษาสันติภาพของโลก ตลอดจนเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
ซึ่งในวันนี้ จะหารือกันทั้งในเรื่อง การเป็นหุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค จะเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศสให้พิจารณาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าที่เป็น Soft Power เช่น ผ้าไทย และแฟชั่น การเป็นหุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ผมเชื่อว่าการหารือในวันนี้ จะเป็นการย้ำความตั้งใจของประเทศไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืนและรอบด้านกับฝรั่งเศสและหวังอย่างยิ่งว่า ฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนคำขอของไทย ในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทยซึ่งปัจจุบันมีกว่าสองแสนคนต่อปีครับ”
----------------
วันที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 17.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับ Stefano Domenicali ผู้บริหารบริษัท Formula One Group ผ่านระบบการประชุมทางไกลแบบออนไลน์
โดยหารือกันในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการจัด Formula 1 ในประเทศไทย ฝ่ายผู้จัดเรียนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับการขยาย การแข่งขัน Formula 1 โดยฝ่ายผู้จัดจะรีบมาสำรวจสถานที่ในประเทศไทยและเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีระบุผ่านแอพพลิเคชั่น X ว่า ภารกิจสุดท้ายของวันนี้คือการประชุมออนไลน์กับ CEO ของ Formula 1 ครับ โดยผมอยากชวนให้การแข่งขันรถยนต์ระดับโลกอย่าง Formula 1 มาจัดแข่งที่ประเทศไทย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และเส้นทางที่สวยงาม
ผมได้เชิญผู้บริหารของ Formula 1 เดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอให้ประเทศไทยเป็นที่จัดแข่งในปี 2027 ด้วย และหากเราทำได้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างมากครับ
--------------
านนี้ (11 มี.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้ผ้าขาวม้าเป็นผ้าพันคอ ในช่วงเดินสายต่างประเทศว่า มีต่างชาติให้ความสนใจในผ้าขาวม้าไทยเช่นกัน แต่เวลาเข้าที่ประชุม ตนจะถอดออกเพื่อไม่เป็นการจงใจโปรโมทจนเกินไป เพราะในที่ประชุมก็ร้อนแล้ว
โดยเมื่อวานนี้ ลายพิเศษที่ใส่มาคือสีแดง น้ำเงิน ขาว เป็นลายสีธงชาติไทยและธงชาติฝรั่งเศสด้วย เป็นผ้าขาวม้าจาก จ.นครพนม โดยพยายามเลือกให้เข้ากับชุด แต่ไม่ได้ไปซื้อมาจากที่ไหน เป็นผ้าที่ประชาชนมอบให้ระหว่างการลงพื้นที่
ซึ่งการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งนี้ เตรียมมากว่า 30 ผืน เพื่อเลือกให้เข้ากับชุดสูทที่ใส่ และเหมาะกับสถานการณ์ในแต่ละวัน
นายกฯ ยังกล่าวว่า ในช่วงนี้จะจบฤดูหนาวในต่างประเทศ แล้วเข้าสู่ช่วงสปริง อุณหภูมิ 10-15 องศา ซึ่งใช้ผ้าพันคอเป็นหนังสัตว์อาจจะหนาเกินไป สามารถใช้ผ้าขาวม้าที่ประเทศไทยขายในราคาถูก สามารถจุดกระแสได้เช่นกัน ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคที่อาจจะเอามาใช้
ซึ่งผ้าขาวม้ามีหลากหลาย รวมทั้งราคาถูก ส่วนตัวอยากให้ราคาสูงขึ้น หากมีคนหันมาใช้ผ้าขาวม้ามากขึ้น ก็เป็นความสุขหนึ่งของตนเอง ที่ทำให้กับประชาชนได้
-------------------
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตว่า
“คิดไว้ตั้งแต่ตอนลงพื้นที่ไปภาคอีสาน และภาคใต้ ว่าอยากเอาผ้าไทยและวัตถุดิบอื่น ๆ ของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่าง ผ้าครามสกล ผ้าขาวม้า อัญมณีไทย เครื่องจักรสาน และเครื่องหอมไทย มานำเสนอเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของแบรนด์ดัง ผมจึงตั้งใจใส่ผ้าขาวม้า จ.นครพนม เป็นผ้าพันคอ มาพบเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเทรนด์ดีไซน์ระดับโลกกับเอกชนรายใหญ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นฝรั่งเศสครับ
ซึ่งกลุ่ม LVMH (Louis Vuitton Moët Hennessy) ที่ได้ควบรวมธุรกิจแบรนด์หรูต่าง ๆ มากมาย มีแบรนด์ระดับไฮเอนด์ถึง 75 แบรนด์ในมือ ตั้งแต่แบรนด์แฟชั่น อัญมณี เครื่องสำอาง น้ำหอม ไวน์ สุรา มีรายได้ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่มาจากเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่นถึง 30%
ขณะเดียวกัน Kering คู่แข่ง LVMH ซึ่งเป็นบริษัทสินค้าหรูจากฝรั่งเศส เป็นแบรนด์แม่ของเครือแบรนด์แฟชั่น รวม 18 แบรนด์ มีห้องทดลองนวัตกรรมวัตถุดิบ Materials Innovation Lab (MIL) ที่รักษาสิ่งแวดล้อมเป็นของตัวเอง ก็ได้แสดงความสนใจในวัตถุดิบไทย และรับไปพิจารณาครับ
นอกจาก จะนำเสนอวัตถุดิบของไทยแล้ว ผมยังได้มีไอเดียเสนอให้ 2 บริษัท ทำ co- branding ร่วมกับ brand ดีไซน์เนอร์คนไทยเป็นคอลเลคชั่นพิเศษระยะสั้น และเสนอให้เปิด pop-up store ในไทยมากขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาในด้านภาษี และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีปัญหา เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น shopping paradise ครับ”
----------------
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 มีนาคม (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ) ที่ร้าน Dior สาขา Avenue Montaigne สถานที่ก่อตั้งห้องเสื้อ Christian Dior เมื่อปี 2849 (ค.ศ. 1946) นาย Bernard Arnault, Chairman and CEO of LVMH Group บุคคลสำคัญของโลกในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสินค้า Luxury พบหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการลงทุน และเดินหน้าเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่สูงขึ้นและความยั่งยืนในภาคส่วนสำคัญต่างๆ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก สร้าง soft power เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งไทยมีความภาคภูมิใจในมรดกทางงานฝีมืออันยาวนาน เช่น ผ้าไหมไทย และเครื่องประดับ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีเทคนิคที่ซับซ้อน
นายกฯ กล่าวเชื่อมั่นว่า งานฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณนี้จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย จึงอยากจะเชิญชวนกลุ่ม LVMH ร่วมกับประเทศไทยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเสริมสร้างเทคนิคและพัฒนาผ้าไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมต้อนรับนักออกแบบและทีมงานสร้างสรรค์จาก LVMH เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่เป็นไปได้กับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต่อจากนั้น เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส) ณ ห้อง Chaillot ชั้น 1 โรงแรม PrincedeGalles นาย Jean-Marc Duplaix, Deputy CEO บริษัท Kering ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจสินค้าประเภทแฟชั่นและสินค้าLuxury รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้หารือกันในประเด็นเพื่อขยายความร่วมมือ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริษัทได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เช่น Gucci และ Bottega ถือได้ว่ามียอดขายอันดับต้น ๆ ในไทย โดยนายกฯ กล่าวว่าปีหน้าจะ เป็นปียิ่งใหญ่ของการท่องเที่ยวไทย หากบริษัทพิจารณาเปิดสาขาเพิ่ม จะเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะที่ทางบริษัทฯ รับทราบด้วยความยินดี และกล่าวชื่นชมว่า ลูกค้าชาวไทยเป็นลูกค้าคุณภาพ และขอบคุณที่ไทยให้ความสนใจ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความสนใจร่วมมือกับไทยในเรื่องการเพิ่มปริมาณสินค้าที่ส่งขายในประเทศไทย และธุรกิจ Luxury Cruise
นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสู่การเติบโตที่สูงขึ้นและความยั่งยืนในภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ พร้อมกับเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวเชิญชวนบริษัท Kering ร่วมมือกับไทย เปิด Regional Office ที่ประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยจะแก้ไขประเด็นอุปสรรคทางการค้า เช่น มาตรการภาษี สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business)
--------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/nKLlxb_wpeE
แท็กที่เกี่ยวข้อง ฝรั่งเศส ,เศรษฐา ทวีสิน ,เอมานูว์แอล มาครง ,ปารีส ,LVMH