สังคม
มาอีกรอบ! ดาวตกขนาดใหญ่ เห็นชัดหลายพื้นที่ในไทย คราวนี้ 2 ครั้ง 2 สี คาดเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด'
โดย nattachat_c
7 มี.ค. 2567
44 views
ช่วงค่ำคืน วันที่ 4 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ชาวโซเชียลพากันแห่แชร์ข้อความ และรูปภาพ เมื่อหลายคนต่างเห็นดวงไฟสีเขียว ปรากฏเหนือท้องฟ้าของประเทศไทยจากหลากหลายพื้นที่ อย่างชัดเจน ทั้งในแถบภาคกลาง และภาคตะวันออก
ต่อมา นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สันนิษฐานว่า เป็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball)
-------------
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 19.15 น. วานนี้ (6 มี.ค. 67) ผู้ใช้ TikTok @aorn_pattawadee ได้โพสต์คลิปขณะเกิดดาวตก ลักษณะเป็นลูกไฟสีเขียว
ส่วนอีกราย ผู้ใช้ TikTok @khunchom168 สามารถบันทึกภาพขณะดาวตกได้เช่นกัน เมื่อเวลา 19.14 น. ในพื้นที่ ต.หินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี ผู้โพสต์ยังระบุด้วยว่า 'ของจริงใหญ่มาก'
-------------
เพจ สมาคมดาราศาสตร์ไทย โพสต์ว่า
"มาอีกลูกแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 19:13 น. ที่ผ่านมา มีรายงานพบเห็นลูกไฟสว่างใหญ่สีเขียว จากหลายจังหวัด ในประเทศไทย"
เพจ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โพสต์ว่าว่า "หัวค่ำเราเห็นดาวตกด้วยดวงใหญ่มาก ขณะที่ทางโซเชียลทั้งเฟซบุ๊ก และ เอ็กซ์ มีผู้ใช้รายงานเช่นกันว่า เวลาประมาณ 19.15 น. มีผู้เห็นดาวตกแสงสีเขียว ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี"
เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ว่า
#ดาวตก หัวค่ำวันนี้ (6 มี.ค. 67) เวลาประมาณทุ่มกว่า ปรากฏ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาว เหนือหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา (เส้นสีขาวบริเวณล่างขวาของภาพ) มีใครเห็นกันบ้างครับ หรือพื้นที่ใกล้เคียงใครเก็บภาพไว้ได้ แชร์หรือบอกเล่ากันมาได้ฮะ
ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทราครับ
ต่อมา เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ว่า
"หัวค่ำ 6 มีนาคม 2567 ปรากฏลูกไฟขนาดใหญ่อีกครั้ง แตกเป็นหลายชิ้นส่วน เหนือท้องฟ้าหลายจังหวัดของไทย ครั้งนี้คาดอาจเป็น #ดาวตกชนิดระเบิด
ช่วงหัวค่ำ 6 มีนาคม 2567 มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบเป็นทางยาว เหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย
แสงดังกล่าวปรากฏขึ้นประมาณสองครั้ง เวลาประมาณ 19:13 น. มีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้น แตกออกเป็น 2-3 ส่วน และ เวลาประมาณ 20:21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้ง มีสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน คาดว่าเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด'
-------------
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า
สำหรับปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ วันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าคล้ายดาวตก 2 ครั้ง ติดต่อกัน
ครั้งแรกเวลาประมาณ 19:13 น. ปรากฏเป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนหัวมีสีฟ้า ส่วนหางมีสีเขียว ขณะเดียวกันได้แตกออกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนหัวมีสีส้ม หางสีเขียว
จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา ปรากฏขึ้นอีกครั้งเวลาประมาณ 20:21 น. มีสีส้ม พบเห็นแต่ละครั้งนานประมาณ 10 วินาที
เหตุการณ์ครั้งนี้ พบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัด กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย อาทิ
- ราชบุรี
- เพชรบุรี
- กาญจนบุรี
- ประจวบคีรีขันธ์
- อยุธยา
- ฉะเชิงเทรา
- กรุงเทพมหานคร
- นครราชสีมา
- ปราจีนบุรี
- สระบุรี
- สุพรรณบุรี
- ลพบุรี
- นครสรรค์
- ศรีสะเกษ
- ชุมพร
- บุรีรัมย์
- ชลบุรี
- สมุทรสาคร
- นครปฐม
- นครนายก
- ระยอง
- ชัยภูมิ
- เชียงใหม่
- และ จังหวัดอื่นๆ
จากข้อมูลดังกล่าว คาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ซึ่งเกิดจากวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร เป็นต้น
เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าว เคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก จะเสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ จนเกิดความร้อนสูงแล้วลุกไหม้ จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ที่เราเรียกว่า 'ดาวตก'
กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อน และแสงสว่าง ที่เกิดขึ้น ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า 'ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)'
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
ดาวตกในครั้งนี้ ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และ โมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสี และเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน
ในแต่ละวัน จะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์"
-------------------------------------------------------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/P0GB2E5ANb4